สยบทุกดราม่า !!! ทำไมโค้ชเชยังไม่ได้สัญชาติไทยซักที ?

 


#สัญชาติ


ทำไมโค้ชเชยังไม่ได้สัญชาติไทยซักที ? 

.

สยบทุกดราม่า ในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของโค้ชเช ชายผู้ปลุกปั้นวงการเทควันโดไทยจนได้เหรียญทองโอลิมปิก 

.

พร้อมวิเคราะห์จุดเน้นประเด็นหลักการขอแปลงสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.สัญชาติฯ และประวัติออกสอบ ปอ.55 | ชพ.60 | นอ.55

.

ข้อมูลเพิ่มเติม : 


1. กฎหมายฝ่ายปกครอง (ฉบับแตกองค์ พร้อมชื่อกำกับ)

ดาวน์โหลด : https://bit.ly/SWDP_26072021


2. กฎหมายสัญชาติไทยกับการถือสองสัญชาติ

ดาวน์โหลด : https://bit.ly/SWDP_2_26072021

ที่มา : ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง


3. เรื่องน่ารู้การขอถือสัญชาติไทย

ดาวน์โหลด : https://bit.ly/SWDP_1_26072021

ที่มา : สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

.

.

——————————————-

1. ทำไมโค้ชเชยังไม่ได้สัญชาติไทยซักที

——————————————-

#ผมอยากเป็นคนไทยแล้ว 


“ผมอยากนำเหรียญทองมาให้ประเทศไทย ไม่ใช่เป็นคนเกาหลีที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก” วาทะของ #โค้ชเช หรือ ชเว ยอง ซอก หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทย ชายผู้อยู่เบื้องหลังเหรียญทองประวัติศาสตร์ โอลิมปิก 2020 


#ดราม่าสัญชาติโค้ชเช


เมื่อหลายปีก่อน ประเด็นการขอแปลงสัญชาติของโค้ชเช เคยยืดเยื้อจนเป็นข่าวดราม่าว่า ทางการไทยไม่ซัปพอร์ต จนโค้ชเชน้อยอกน้อยใจและเตรียมอำลาทีมเทควันโดไทยกลับบ้านเกิด


สังคมตั้งคำถามกับกรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานผู้รับผิดชอบมากมาย ถึงเรื่องการแปลงสัญชาติที่ยืดเยื้อล่าช้า


“19 ปี กับผลงานพลิกประวัติศาสตร์ในวงการเทควันโดไทยมากมาย ไม่เพียงพอหรือกับการขอสัญชาติไทย” บางคนกล่าว


ใช่! เพียงพอ และเพียงพอมากด้วย…อ้าว ! แล้วมันติดขัดตรงไหนล่ะ


#ทางการไทยพร้อม


“โค้ชเชกลับมายื่นเอกสารเลยครับ กรมการปกครอง พร้อมรับพิจารณาทันทีที่เอกสารครบถ้วนและจะเร่งการพิจารณาโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นการทำคุณความดีให้กับประเทศไทย”


“นี่ไม่ใช่เคสแรก เพราะย้อนกลับไปปี 2560 "โค้ชเซียะ” หรือ เซียะ จื่อหัว ผู้ฝึกสอนแบดมินตันชาวจีนของ "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ เคยสละสัญชาติจีน และแปลงสัญชาติเป็นไทยมาแล้ว” 

(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/223/14.PDF)


อธิบดีกรมการปกครองกล่าวกับสื่อมวลชน


#กฎหมายไทยห้ามถือสองสัญชาติ


ประเด็นปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า…กฎหมายไทยอนุญาตให้พลเมืองถือสัญชาติได้เพียงสัญชาติเดียวเท่านั้น จะถือสองสัญชาติ ไม่ได้


เพราะตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ย้ำชัดว่า “ผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ อาจถูกถอนสัญชาติไทยได้ หากมีหลักฐานแสดงว่าผู้นั้นยังใช้สัญชาติเดิม”


นั่นหมายความว่า ทางการไทย "ไม่ได้ห้าม" ให้โค้ชเชแปลงสัญชาติ แต่ให้มายื่นเอกสารได้เลย เรายินดีมาก ๆ ด้วย


แต่ข้อแม้ใหญ่คือ โค้ชเชจำเป็นต้องสละสัญชาติเกาหลีของตัวเองก่อนน่ะสิ ซึ่งโค้ชเชเองก็ยังไม่พร้อมที่จะสละสัญชาติเดิมในตอนนี้


#เคยคุยเรื่องสัญชาติที่สองให้โค้ชเชเป็นกรณีพิเศษ


ทำให้เมื่อหลายปีก่อน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย ถึงกับต้องเข้าไปพูดคุยกับทางการไทย เรื่องขอสัญชาติที่สองให้กับโค้ชเชเป็นกรณีพิเศษ ในฐานะบุคคลผู้ทำประโยชน์ให้กับชาติไทยมามากกว่า 10 ปี 


แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกฎหมายไทยระบุชัดอยู่แล้ว และโค้ชเชก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือใคร


#สิ่งที่สูญเสียเมื่อโค้ชเชเป็นคนไทย


1. โค้ชเชเป็นเหมือนข้าราชการของเกาหลี เป็นคนเกาหลีที่มาทำงานที่ไทย ทางการเกาหลีจะซัปพอร์ตเรื่องค่าเรียนลูกชาย ค่าเช่า ฯลฯ  เป็นสวัสดิการครอบครัว จนถึงอายุ 60 ปี 


2. ครอบครัวโค้ชเชอยู่ที่ไทยหมด ลูกชายก็กำลังเรียนที่สาธิต ม.เกษตรฯ เขาได้โควตาเป็นโค้ชต่างชาติได้รับเงินเดือน 150,000 บาท จาก กกท. แต่ถ้าเป็นคนไทยแล้ว เขาจะให้เงินเดือนลิมิต 50,000 บาท


3. พาสปอร์ตเล่มเขียวของเกาหลีใต้  สามารถเดินทางได้ 191 ประเทศ โดยไม่ต้องขอวีซ่า 


4. สวัสดิการอื่น ๆ จากการเป็นพลเมืองเต็มขั้นของเกาหลี


ฯลฯ


ใช่ ! ถ้าเขาแปลงสัญชาติเป็นไทย เขาจะถูกยกเลิกสิ่งที่ทางการเกาหลีซัปพอร์ตทั้งหมด


#แต่การถือสัญชาติไทยก็ไม่เลวร้ายอะไร


1. เขาสามารถประกอบธุรกิจหรือซื้อที่ดินต่าง ๆ และมีกรรมสิทธิ์เต็มทั้งหมด


2. การเป็นกรรมการในสภากรรมการของสมาคมฯ ที่มีสิทธิกำหนดทิศทางและบริหารสมาคมฯได้


3. สิทธิพลเมืองทั้งหมด เช่นเดียวกับคนไทย


#อยู่ที่โค้ชเชแล้วล่ะ


“เราคุยกันมานานมาก เดิมมีปัญหาของทางภาครัฐในเรื่องคุณสมบัติ พอทำท่าจะขอได้โค้ชเชก็ไม่พร้อม เพราะห่วงคุณย่าที่เลี้ยงมาตลอด ต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างไทยและเกาหลีใต้เพื่อดูแลคุณย่า แต่ตอนนี้โค้ชเชหมดห่วงเรื่องคุณย่าแล้ว” นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย เปิดเผย


ดังนั้น บทสรุปของดราม่า ก็อยู่ที่ตัวโค้ชเชเองแล้วล่ะว่า จะเลือกถือสัญชาติไหนระหว่างเกาหลีหรือไทย ที่ตอบโจทย์ชีวิตเขามากกว่า

.

.

——————————————-

2. จุดเน้นประเด้นหลักการขอแปลงสัญชาติไทย

——————————————-


#การขอแปลงสัญชาติมีกี่รูปแบบ


ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ระบุชัด การขอแปลงสัญชาติไทย มี 6 รูปแบบ ดังนี้


1. กรณีแปลงสัญชาติทั่วไป ตามมาตรา 10

2. กรณีทำความดีความชอบเป็นพิเศษต่อประเทศไทย หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่ทางราชการ ตามมาตรา 11 (1)

3. กรณีเป็นบุตร ภริยา หรือสามีของผู้ซึ่งได้แปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา 11 (2)

4. กรณีเป็นผู้ได้เคยมีสัญชาติไทยมาก่อน ตามมาตรา 11 (3)

5. กรณีเป็นสามีของผู้มีสัญชาติไทย ตามมาตรา 11 (4) (กรณีเป็นภริยาของผู้มีสัญชาติไทย จะขอถือสัญชาติไทยตามสามี ตามมาตรา  9)

6. กรณีเป็นบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่บิดาหรือมารดาได้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติพร้อมกับตน ตามมาตรา 12 วรรคสอง


กรณีมีความเกี่ยวพันหรือสัมพันธ์กับประเทศไทย เช่น สมรสกับบุคคลสัญชาติไทย หรือมีบุตรเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย จะได้รับการลดหย่อนหลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องรายได้


#คุณสมบัติผู้ขอแปลงสัญชาติไทย


1. บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ (อายุครบหรือสมรส)

2. มีความประพฤติดี

3. มีอาชีพเป็นหลักฐาน (ปกติเดือนละ 80,000 บาท แต่ถ้าเกี่ยวพันลดหย่อนเหลือ 40,000 บาท)

4. มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

5. มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ฟังพูดเข้าใจ ร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญฯได้)


#ข้อยกเว้นเรื่องคุณสมบัติ 


หลักเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติข้อ 4 และ 5 ไม่บังคับกรณีขอแปลงสัญชาติไทย กรณีทำความดีความชอบ กรณีเป็นบุตร ภริยา หรือสามีของผู้ซึ่งได้แปลงสัญชาติไทย กรณีเป็นผู้ได้เคยมีสัญชาติไทยมาก่อน และกรณีเป็นสามีของผู้มีสัญชาติไทย


หลักเกณฑ์ข้อ 1 , 3 , 4 และ 5 ไม่บังคับกรณีเป็นบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่บิดาหรือมารดาได้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติพร้อมกับตน


#ให้ยื่นขอแปลงสัญชาติต่อใคร


1. ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ)

2. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตำรวจภูธรจังหวัด (กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด)


#ผู้ใดมีอำนาจอนุญาตในการแปลงสัญชาติไทย


ประเด็นนี้น่าสนใจ และมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง ได้แก่


แนวทางที่ 1 : “เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 หาใช่อำนาจของอธิบดีกรมการปกครองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด เช่นกรณีของพระภิกษุชาวต่างชาติหลายรูปที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นพระราชอำนาจพระราชทานสัญชาติไทย โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอ หรือมีเงื่อนไขที่ผ่านกระบวนการของภาครัฐแต่อย่างใด


แนวทางที่ 2 : “การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย ให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี” เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาต จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยปฏิญาณตนว่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย ซึ่งกระบวนการกราบบังคมทูลและการปฏิญาณตนเป็นกระบวนการภายหลังจากการอนุญาตของรัฐมนตรีแล้ว 


#วิถีแห่งสิงห์เห็นต่างอำนาจการอนุญาตให้แปลงสัญชาติ


เมื่อพิจารณาตามมาตรา 12 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แล้วเห็นว่า กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งเป็นอำนาจที่จะอนุญาตให้ผู้ขอแปลงสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งกฎหมายบังคับให้ปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติถือว่าการแปลงสัญชาตินั้นไม่สมบูรณ์ ประกอบกับพระมหากษัตริย์ก็ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตหรือไม่ก็ได้ 


จะเห็นได้ว่า หากขาดการอนุญาตหรือพระบรมราชานุญาตอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การขออนุญาตแปลงสัญชาตินั้นจะไม่สมบูรณ์ 


ถือได้ว่าผู้มีอำนาจอนุญาตมี 2 คน คือรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์ 


ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การอนุญาตให้แปลงสัญชาติไทยจะสมบูรณ์ ต้องผ่านกระบวนการ ดังนี้

1. รัฐมนตรีอนุญาต

2. พระมหากษัตริย์พระราชทานพระบรมราชานุญาต

3. ผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยปฏิญาณตนว่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย

4. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (รัฐมนตรีหรือพระมหากษัตริย์ประกาศ)


#การแปลงสัญชาติไทยมีผลสมบูรณ์เมื่อใด


เป็นไปตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508  คือ การได้ การแปลง การเสีย หรือการกลับคืนสัญชาติไทยมีผลต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัว


#การถอนสัญชาติของผู้ที่แปลงสัญชาติไทย


เป็นไปตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังนี้ 


1. กรณีที่อาจถอนสัญชาติของผู้ที่แปลงสัญชาติไทยได้ ได้แก่

     (1) ปกปิดข้อเท็จจริงหรือแสดงข้อความเท็จอันเป็นสาระสำคัญ

     (2) มีหลักฐานแสดงว่าผู้แปลงสัญชาตินั้นยังใช้สัญชาติเดิม

     (3) กระทำการใด ไ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ

     (4) กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

     (5) ไปอยู่ในต่างประเทศโดยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยเป็นเวลาเกิน 5 ปี

     (6) ยังคงมีสัญชาติของประเทศที่ทำสงครามกับประเทศไทย


2. การถอนสัญชาติไทย จะขยายไปถึงบุตรของผู้ถูกถอนสัญชาติไทยในเมื่อบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะและได้สัญชาติไทยตามมาตรา 12 วรรคสอง ด้วยก็ได้ 


3. ผู้มีอำนาจสั่งถอนสัญชาติของผู้ที่แปลงสัญชาติไทยคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


4. เมื่อรัฐมนตรีสั่งถอนสัญชาติไทยแล้วให้นำ

ความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ (ไม่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเหมือนการขอแปลงสัญชาติ)

.

.

—————————————-

3. ประวัติออกสอบ ปอ.55 | ชพ.60 | นอ.55

——————————————-


#ปอ55


ถาม : เมื่อผู้ขอแปลงชาติไทยได้รับอนุญาตให้แปลงชาติไทยแล้ว ข้อใดกล่าวถูกต้อง ?


1. ให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชาอนุญาต

2. ให้ปฏิญาณตนว่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย

3. ให้ร้องเพลงชาติไทยให้คณะกรรมการฯ ฟัง

4. ถูกทั้งข้อ 1 และข้อ 2


ตอบ : 2. 


จากการวิเคราะห์ตามแนวความเห็นที่ว่า หากขาดการอนุญาตจากรัฐมนตรี และพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การขออนุญาตแปลงสัญชาตินั้นจะไม่สมบูรณ์ จึงถือได้ว่าผู้มีอำนาจอนุญาตมี 2 คน คือรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์ ดังนั้นกระบวนการหลังจากนั้นคือ ให้ปฏิญาณตนว่าจะมีควาซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย


#ชพ60 


ถาม : ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอแปลงสัญชาติไทย


ตอบ : มีฐานะดี


เนื่องจากโจทย์ไม่สมบูรณ์ จึงขออนุมานว่าเป็นการถามถึงกรณีขอแปลงสัญชาติทั่วไป ตามมาตรา 10 ซึ่งกฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอแปลงสัญชาติไทยไว้ว่า ต้องบรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ มีความประพฤติดี มีอาชีพเป็นหลักฐาน มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 


แต่คำตอบอาจจะเปลี่ยนไปหากโจทก์ถามกรณีอื่น ทั้ง กรณีทำความดีความชอบเป็นพิเศษ กรณีเป็นบุตร ภริยา หรือสามีของผู้ซึ่งได้แปลงสัญชาติเป็นไทย กรณีเป็นผู้ได้เคยมีสัญชาติไทยมาก่อน กรณีเป็นสามีของผู้มีสัญชาติไทย และกรณีเป็นบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่บิดาหรือมารดาได้ยื่นคำขอแปลงสัญชาติพร้อมกับตน 


#นอ55


ถาม : ข้อใดไม่ถูกต้อง 


1. การขอถือสัญชาติไทยตามสามี การขอแปลงสัญชาติเป็นไทย การเสียสัญชาติไทย การกลับคืนสัญชาติไทย ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะมีผลสมบูรณ์และมีผลเฉพาะตัวตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


ตัวเลือกประเด็นนี้ “ถูกต้อง” เป็นไปตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508  คือ การได้ การแปลง การเสีย หรือการกลับคืนสัญชาติไทยมีผลต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัว

.

.

.

หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์กับ”การสอบ” ไม่ใช่”การเมือง” นะครับ 555

.

#วิถีแห่งสิงห์ #ปลัดอำเภอ #นายอำเภอ #กรมการปกครอง #โค้ชเช

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?