นับอายุและภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้านอย่างไร ?

 


เลือกเข้ามาได้ก็เอาออกได้

สรุปการนับอายุและภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน...

1. ผู้ใหญ่บ้าน แม้มีวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี แต่หากประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสม หรือจัดการหมู่บ้านไร้ประสิทธิภาพ ราษฎรในหมู่บ้านนั้นมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้านได้

2. ราษฎรที่เข้าชื่อถอดถอนจะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน ได้แก่
2.1 มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือก
2.2 ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
2.3 ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
2.4 มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านนั้น ติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนจนถึงวันเลือก

3. ราษฎรที่เข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของราษฎรผู้มีคุณสมบัติฯ ทั้งหมดในหมู่บ้าน

4. นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งในกรณีดังกล่าว

5. ประเด็นสำคัญที่ 1 คือ ราษฎรที่มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือก

แล้วจะนับยังไง ?

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นนี้ว่า การพิจารณาอายุของผู้ที่ยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้ถอดถอนผู้ใหญ่บ้านออกจากตำแหน่ง ผู้ยื่นหนังสือจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการยื่นเพื่อขอให้ถอดถอน มิใช่ของปีที่มีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน

6. ประเด็นสำคัญที่ 2 คือ ราษฎรที่มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านนั้น ติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนจนถึงวันเลือก

แล้วจะนับยังไง ?

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยประเด็นนี้ว่า การพิจารณาคุณสมบัติเรื่องภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ์เข้าชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรผู้นั้นจะต้องมีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านในหมู่บ้านนั้นติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน นับถึงวันที่ผู้นั้นยื่นหนังสือขอให้ถอดถอนผู้ใหญ่บ้านออกจากตำแหน่ง มิใช่นับถึงวันที่มีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน

7. ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านไว้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การนับอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ให้นับถึงวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการยื่นหนังสือถอดถอน และการมีภูมิลำเนา ฯลฯ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน จะต้องนับถึงวันที่ผู้นั้นยื่นหนังสือขอให้ถอดถอน
.
.
————————————-
ข้อมูลอ้างอิง :
1. มาตรา 11 และมาตรา 14 (6) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457
2. คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 25/2563
————————————-

กดติดตามเพจวิถีแห่งสิงห์
เพื่อไม่พลาดข้อมูลเด็ด ๆ
ในการทำงานและเตรียมสอบ
สายงาน “นักปกครอง”


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?