7 ประเด็นสำคัญ กับการชันสูตรพลิกศพในหน้าที่ฝ่ายปกครอง

 


#ชันสูตรพลิกศพ #ออกสอบบ่อยทุกสนาม


7 ประเด็นสำคัญ กับการชันสูตรพลิกศพในหน้าที่ฝ่ายปกครอง


#ผู้กำกับโจ้


โซเชียลเดือด !!! ทนายแฉคลิปผู้กำกับคนดังฆ่าคลุมหัวพ่อค้ายา รีดเงิน 2 ล้าน


กลายเป็นประเด็นฉาววงการสีกากี หลังมีการเปิดเผยคลิปวีดีโอความยาวนาทีเศษจากทนายชื่อดัง ปรากฏชายฉกรรจ์หัวเกรียน 4-5 คน ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติด ที่ถูกพันธนาการด้วยกุญแจมือ จากนั้นร่วมกันรุมทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาจนขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตคาโรงพักแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ 


เป็นภาพที่น่าหดหู่ใจ กับการกระทำอันเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ ภาพเคลื่อนไหวตั้งแต่แรกจนจบคลิปเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่แสดงให้เห็นชัดเจนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ฆ่าผู้อื่น


———————————————-


เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 5332/2560


จำเลยใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะผู้ตาย แล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย แม้จำเลยจะอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่าหรือไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288


———————————————-


ต่อมายังมีการเปิดเผยเอกสารสำคัญ เป็นหนังสือรับรองการตายที่ออกโดยโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ สันนิษฐานว่าผู้ต้องหารายดังกล่าวนั้น “เสียชีวิตเพราะพิษจากสารแอมเฟตามีน”


ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในโลกออนไลน์ว่า ขัดกันกับข้อเท็จจริงที่เห็นหรือไม่


#ไม่ใช่การตายแบบธรรมดา


คดีนี้น่าสนใจ !


เพราะนี่ไม่ใช่การตายแบบธรรมดา แต่เป็นการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่


ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสาม ระบุชัด… ให้พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และแพทย์


———————————————-


วันนี้วิถีแห่งสิงห์จะมาสรุป 7 ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายปกครองและผู้เตรียมตัวสอบต้องรู้ ในการชันสูตรพลิกศพ ได้แก่


1. หลักกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ

2. ตายแบบไหนต้องชันสูตรพลิกศพ

3. ใครบ้างมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับชันสูตรพลิกศพกรณีมีการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน

4. การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองที่ได้รับแต่งตั้ง

5. ค่าตอบแทนในการชันสูตรพลิกศพ

6. แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

7. ประวัติการออกข้อสอบ / ถามตอบเทศาภิบาล / ประเด็นติวสอบชำนาญการพิเศษกรมการปกครอง 2564


————————————————-


#7ประเด็นสำคัญ


#1-หลักกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 148 - 156)



- เหตุที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพมี 2 เหตุ คือ ตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฏหมาย


- สามี ภริยา ญาติ มิตรสหาย ผู้ปกครองของผู้ตาย หรือผู้อื่นซึ่งได้พบศพ ไม่เก็บศพไว้หรือแจ้งแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท


- ตายโดยผิดธรรมชาติ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ทำการชันสูตรพลิกศพ


- ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ พนักงานอัยการ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ ทำการชันสูตรพลิกศพ


- ความตายเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่ว่าจะถูกฆ่าตายโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หรือประมาท หรืออุบัติเหตุใด ๆ หรือเจ็บป่วยตาย ต้องให้มีการชันสูตรพลิกศพ 


- หากชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จห้ามฟ้องคดีต่อศาล แต่หากไม่มีการชันสูตรพลิกศพหรือทำไม่สมบูรณ์หรือการชันสูตรพลิกศพกระทำโดยไม่ชอบก็ไม่ห้ามฟ้องคดี 


- เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ในการทำการชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบ เท่าที่จะทำได้


- ผู้ชันสูตรพลิกศพต้องทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงได้ว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้าย เท่าที่จะทราบได้


- ผู้ใดกระทำการใดแก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยถ้าเป็นการกระทำความผิดโดยทุจริตหรือเพื่ออำพรางคดีต้องระวางโทษหนักขึ้น 2 เท่า


- ให้ส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพ ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด


ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรพลิกศพของพนักงานฝ่ายปกครอง พ.ศ. 2543


(1) การให้คำปรึกษาแก่พนักงานฝ่ายปกครอง กรณีความตายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจหรือสะเทือนขวัญของประชาชน หรืออาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 


- ในจังหวัดอื่น => ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจเข้าไปร่วมให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำแก่พนักงานฝ่ายปกครองผู้ทำหน้าที่ร่วมชันสูตรพลิกศพ หรือจะมอบหมายให้ป้องกันจังหวัด จ่าจังหวัด ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด คนหนึ่งคนใด หรือหลายคน ปฏิบัติหน้าที่ให้คำแนะนำแทนตนได้ 


แต่การลงชื่อในรายงานการชันสูตรพลิกศพให้เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองผู้ทำหน้าที่ร่วมชันสูตรพลิกศพเช่นเดิม เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดประสงค์จะเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน 


- ในกรุงเทพมหานคร => ปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจเข้าไปร่วมให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำแก่พนักงานฝ่ายปกครองผู้ทำหน้าที่ร่วมชันสูตรพลิกศพหรือจะมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง รองอธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย คนหนึ่งคนใด หรือหลายคนปฏิบัติหน้าที่ให้คำแนะนำแทนตนได้ 


แต่การลงชื่อในรายงานการชันสูตรพลิกศพให้เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองผู้ทำหน้าที่ร่วมชันสูตรพลิกศพเช่นเดิม เว้นแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยประสงค์จะเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน 

 

(2) ปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมายอาจเข้าไปร่วมให้คำปรึกษา หรือให้คำแนะนำแก่พนักงานฝ่ายปกครองผู้ทำหน้าที่ร่วมชันสูตรพลิกศพในจังหวัดอื่นได้

 

(3) กรณีมีเหตุจำเป็น ที่ผู้ชันสูตรพลิกศพไม่สามารถจะทำการชันสูตรพลิกศพให้เสร็จโดยเร็วได้ 


- ในจังหวัดอื่น =>  ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจมอบหมายให้ป้องกันจังหวัด จ่าจังหวัด ปลัดจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด คนหนึ่งคนใด หรือหลายคน เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนและแพทย์ได้ 


โดยให้พนักงานฝ่ายปกครองแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ลงชื่อในรายงานการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวน


- ในกรุงเทพมหานคร => ปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานปกครอง นิติกร หัวหน้างาน หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่าย ผู้อำนวยการส่วน ผู้อำนวยการกอง และผู้อำนวยการสำนัก กรมการปกครอง ที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายท้องที่ที่รับผิดชอบจากอธิบดีกรมการปกครองในท้องที่อื่น คนหนึ่งคนใด หรือหลายคน เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพกับพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนและแพทย์ได้ 


โดยให้พนักงานฝ่ายปกครองแห่งท้องที่ที่รับผิดชอบที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ลงชื่อในรายงานการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวน


+++ ———————————————- +++

#2-ตายแบบไหนต้องชันสูตรพลิกศพ


การตายที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ คือการตายโดยผิดธรรมชาติหรือการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน (เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย)


แล้ว “การตายผิดธรรมชาติ” กับ “การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน” มีลักษณะอย่างไร


การตายโดยผิดธรรมชาติ  มี 5 ลักษณะดังนี้


(1) การฆ่าตัวตาย หมายถึง การจบชีวิตตนเองโดยเจตนาหรือไม่เจตนา แต่ทำให้เกิดผลถึงตาย ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพเพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าผู้ตายนั้นถึงแก่ความตายเพราะการฆ่าตัวตายจริง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นหรือมีบุคคลใดทำให้ตาย อันอาจทำให้บุคคลนั้นมีความผิดทางอาญาได้


(2) การถูกผู้อื่นทำให้ตาย หมายถึง กรณีการตายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลอื่นทุกกรณีไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นการกระทำที่ผู้กระทำอาจต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่ก็ตาม


(3) การถูกสัตว์ทำร้ายตาย หมายถึง กรณีการตายเกิดจากการถูกสัตว์ทำร้ายโดยตรง เช่น ถูกงูกัด ถูกช้างกระทืบ แต่มิใช่เกิดจากโรคที่สัตว์นั้นเป็นพาหะของโรค เช่น โรคมาลาเรีย พิษสุนัขบ้า กาฬโรค เป็นต้น การที่กฎหมายกำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพก็เพื่อความกระจ่างชัดถึงสาเหตุแห่งการตาย


(4) การตายโดยอุบัติเหตุ หมายถึง กรณีการตายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดและโดยบังเอิญ ซึ่งเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการจราจร ทั้งทางบกและทางน้ำ การที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพก็เพื่อให้แน่ใจว่าการตายนั้นมิได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาของบุคคลใดมาเกี่ยวข้องด้วย


(5) การตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ หมายถึง กรณีความตายที่ยังมีเหตุแห่งความสงสัยเกี่ยวกับความผิดทางอาญา การชันสูตรพลิกศพก็เพื่อจะแยกการตายกะทันหันและไม่คาดคิดที่เป็นการตายโดยธรรมชาติออกไป เช่น โรคไหลตาย หรือหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นต้น


สำหรับการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ได้แก่ การตายที่อยู่ในระหว่าง (1) ควบคุม (2) ขัง (3) กักขัง (4) จำคุก หรือ (5) คุมตัว  ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือคำพิพากษาหรือตามคำสั่งของศาล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าพนักงานว่ามีความเกี่ยวข้องกับการตายมากน้อยเพียงใด


+++ ———————————————- +++


#3-ใครบ้างมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับชันสูตรพลิกศพกรณีมีการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน


(1) พนักงานสอบสวนท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ (พบศพอยู่ในท้องที่ของพนักงานสอบสวนใด ให้พนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ เหตุเกิดที่ใดไม่สำคัญ และการตายจะตายที่ไหนก็ไม่สำคัญเช่นเดียวกัน)


(2) พนักงานอัยการ


(3) แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ 

     - ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ ปฎิบัติหน้าที่

     - ถ้าแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปฎิบัติหน้าที่

     - ถ้าแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชน หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ปฎิบัติหน้าที่


(4) พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ ได้แก่


#ในจังหวัดอื่น => ปลัดอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ นายอำเภอ ป้องกันจังหวัด จ่าจังหวัด ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด


#ในกรุงเทพมหานคร => เจ้าพนักงานปกครอง นิติกร หัวหน้างาน หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่าย ผู้อำนวยการส่วน ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักกรมการปกครอง ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง รองอธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย


+++ ———————————————- +++


#4-การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองที่ได้รับแต่งตั้ง


(1) บันทึกรายการที่ได้รับแจ้งลงในแบบรายงานประจำวันรับแจ้งเหตุการชันสูตรพลิกศพตามแบบ ชศ. 1


(2) รายงานให้ผู้บังคับบัญชาจนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบ ตามแบบ ชศ. 2


(3) บันทึกการออกไปชันสูตรพลิกศพลงในแบบ ชศ. 3


(4) ตรวจสอบว่า ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพมีครบถ้วนและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่


(5) บันทึกภาพผู้ตายตามสภาพที่พบครั้งแรกพร้อมสิ่งของ และสถานที่บริเวณข้างเคียง หรือร่องรอยที่ปรากฏต่าง ๆ


(6) ตรวจสถานที่เกิดเหตุหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพพร้อมสภาพศพและวัตถุสิ่งของต่าง ๆ โดยละเอียดและบันทึกลงในแบบการตรวจที่เกิดเหตุ ตามแบบ ชศ. 4


(7) ทำแผนที่ที่เกิดเหตุ ลงในแบบแผนที่ที่เกิดเหตุ ตามแบบ ชศ. 5 


(8) ร่วมพิจารณาการทำแผนที่ที่เกิดเหตุกับผู้ชันสูตรพลิกศพอื่น


(9) ร่วมตรวจสิ่งของ อาวุธ ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่น ๆ ของคนตายหรือที่พบศพในสถานที่เกิดเหตุ


(10) ร่วมทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพกับผู้ชันสูตรพลิกศพอื่น ๆ เพื่อแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ตามแบบรายงานการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวน 


ทั้งนี้ ให้พิจารณาทุกประเด็นอย่างละเอียดรอบคอบก่อนทำความเห็นร่วม เนื่องจากผู้ที่ทำการชันสูตรพลิกศพ อาจถูกเรียกเป็นพยานในชั้นการไต่สวนของศาลหรืออาจตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ เสร็จแล้วให้สำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพดังกล่าวรายงานผู้บังคับบัญชา และกระทรวงมหาดไทย


(11) บันทึกผลการชันสูตรพลิกศพลงในบันทึกผู้ชันสูตรพลิกศพ ตามแบบ ชศ. 6 เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและรายงานผลการชันสูตรพลิกศพต่อผู้บังคับบัญชา


+++ ———————————————- +++


#5-ค่าตอบแทนของผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ


ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ดังนี้


(1) กรณีการชันสูตรพลิกศพในที่ที่ศพอยู่ ให้จ่ายค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการแก่แพทย์

และเจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพในแต่ละครั้ง ไม่เกิน 1,200 บาท ต่อคน


(2) กรณีการชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาล ฯลฯ ให้จ่ายค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการแก่บุคคลดังต่อไปนี้

- แพทย์ผู้ทำการตรวจสภาพศพภายนอก ศพละไม่เกิน 750 บาท

- แพทย์ผู้ทำการผ่าพิสูจน์ภายในศพ ศพละไม่เกิน 1,500 บาท

- แพทย์ผู้ทำการผ่าตรวจภายในและตัดตรวจชิ้นเนื้อศพ ศพละไม่เกิน 3,000 บาท


(3) กรณีที่การชันสูตรพลิกศพกระทำโดยแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ หรือพยาธิแพทย์ ให้จ่ายค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการให้แก่แพทย์นั้นเพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนหรือค่าป่วยการอีกกึ่งหนึ่ง


(4) ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก เบิกจ่ายต้นสังกัด


ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของแพทย์และเจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 พ.ศ. 2561


+++ ———————————————- +++


#6-แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ


(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2539)

แม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายในระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวส่งโรงพยาบาลก็ไม่ใช่กรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน จึงไม่ใช่กรณีที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสาม


(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2530)

การชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว แม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็หาเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องไม่ 


(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2493)

กฎหมายหาได้ห้ามไม่ให้ฟ้องในกรณีที่ไม่มีการชันสูตรพลิกศพไม่และแม้การชันสูตรพลิกศพจะไม่ชอบ ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้อง


(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 438/2492)

ในการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย มีปลัดอำเภอกับผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ เพราะในท้องที่ใกล้เคียงนั้นไม่มีแพทย์ ดังนี้ ถือว่าการชันสูตรพลิกศพไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ไม่ตัดอำนาจโจทก์ที่นำคดีมาฟ้องได้

 

(คำพิพากษาศาลฎีกา 393/2489)

ผู้ลงนามในใบชันสูตรพลิกศพ ไม่ได้เป็นแพทย์แต่เป็นเพียงสัปเหร่อย่อมเป็นการชันสูตรพลิกศพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้การชันสูตรพลิกศพเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอัยการยื่นฟ้องฐานฆ่าคนตายได้ 


(คำพิพากษาศาลฎีกา 1261/2481)

อัยการโจทก์ฟ้องคดีเรื่องฆ่าคนตายโดยไม่ได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเลยก็ได้ ไม่เป็นการผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 


(คำพิพากษาศาลฎีกา 1299-1300/2481)

ป.วิอาญา มาตรา 129 บัญญัติแต่ว่าเมื่อการ ชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จห้ามมิให้ฟ้องร้อง กรณีที่ไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพหรือการชันสูตรไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น หาได้อยู่ในข้อห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่


+++ ———————————————- +++


#7-ประวัติการออกข้อสอบ / ถามตอบเทศาภิบาล / ประเด็นติวสอบชำนาญการพิเศษกรมการปกครอง 2564


1. (ถามว่ากระบวนการดังกล่าวถูกต้องหรือไม่) นายสมควรกระทำความผิดอาญาอย่างร้ายแรง ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเมื่อเรือนจำ บางขวาง ประหารชีวิตนายสมควรโดยการฉีดยาแล้วพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกันชันสูตรพลิกศพ โดยก่อนชันสูตรพลิกศพให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพาการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดย ชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้ (นอ.55)

= การตายโดยประหารชีวิตโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นข้อยกเว้น ไม่ต้องทำการชันสูตรพลิกศพ


2. พนักงานฝ่ายปกครองต้องเข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพการตายผิดธรรมชาติทุกกรณีหรือไม่ (นอ.55)

= ไม่ 

กฎหมายกำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองต้องเข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้น โดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่เท่านั้น


3. การอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรพลิกศพของพนักงานฝ่ายปกครอง พ.ศ. 2543 บุคคลต่อไปนี้มิใช่พนักงานฝ่ายปกครองตามข้อบังคับ ดังกล่าว (นอ.55)

(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันจังหวัด

(2) รองผู้ว่าราชการจังหวัด จ่าจังหวัด

(3) นายอำเภอ ปลัดอำเภอ

(4) นิติกร สังกัดสำนักการสอบสวนและนิติการ

(5) นิติกรจังหวัด


ตอบ (5) นิติกรจังหวัด (ดู #3-ใครบ้างมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับชันสูตรพลิกศพกรณีมีการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน)


4. กรณีมีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ก่อนการชันสูตรพลิกศพ (ปอ.43)

(1) ให้แจ้งผู้มีหน้าที่ทำการพลิกชันสูตรศพทราบ

(2) ให้แจ้งสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้

(3) ให้แจ้งให้สามี หรือภริยา หรือญาติของผู้ตายให้ทราบ หากไม่มีสามี หรือภริยา หรือญาติ ของผู้ตายมาเป็นพยานในการชันสูตรพลิกศพจะทำการพลิกชันสูตรศพไม่ได้

(4) ข้อ (1) และข้อ (2) ถูก

(5) ข้อ (1) และข้อ (3) ถูก


ตอบ (4) 

เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ในการทำการชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบ เท่าที่จะทำได้ ตามป.วิอาญา มาตรา 150 วรรคสอง 


5. ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้น โดยการกระทำของเข้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่

ราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติ

ราชการตามหน้าที่ ผู้ใดมีอำนาจหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ (ปอ.48)

(1) แพทย์และพนักงานสอบสวน

(2) แพทย์ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ

(3) แพทย์และพนักงานอัยการ

(4) แพทย์ พนักงานสอบสวน และปลัดอำเภอ

(5) แพทย์ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และปลัดอำเภอ ร่วมกันชันสูตรพลิกศพ


ตอบ (5) 

ตามป.วิอาญา มาตรา 150 วรรคสาม


6. พนักงานฝ่ายปกครองไม่ต้องทำหน้าที่ใดในการชันสูตรพลิกศพ (ชพ.60)

= บันทึกถ้อยคำผู้พบศพ

(ดู #4-การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองที่ได้รับแต่งตั้ง)


7. หน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพของอำเภอพระนครศรีอยุธยาอยู่ในความรับผิดชอบของ

(ปรับตัวเลือกเป็นปัจจุบัน) (ปอ.55)

(1) กลุ่มงานบริหารงานปกครอง

(2) สำนักงานอำเภอ

(3) กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม

(4) กลุ่มงาน/ฝ่ายความมั่นคง


ตอบ (3) กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม 

ฝ่ายอำนวยความเป็นธรรม มีอำนาจหน้าที่ 

(1) ดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของฝ่ายปกครอง และการเปรียบเทียบปรับ คดีอาญาตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่กฎหมายที่อยู่ในกลุ่มงาน/ฝ่ายทะเบียนและบัตร 

(2) ดำเนินงานเกี่ยวกับการร่วมชันสูตรพลิกศพในหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครอง

(3) ดำเนินการเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งและอาญาในอำนาจหน้าที่ของอำเภอ

(4) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้

(5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นหรือที่ได้รับมอบหมาย


8. การตายที่ไม่ต้องทำการชันสูตรพลิกศพ (เทศาภิบาล)

= ตายโดยประหารชีวิตโดยถูกต้องตามกฎหมาย


9. ผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพกรณีความตายโดยผิดธรรมชาติ คือ (เทศาภิบาล)

= พนักงานสอบสวนท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ / แพทย์


10. ผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพกรณีการตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน (เทศาภิบาล)

= (1) พนักงานสอบสวนท้องที่ที่ศพนั้นอยู่

(2) แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ 

(3) พนักงานอัยการ

(4) พนักงานฝ่าปกครองตำแหน่งปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่


11. วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการชันสูตรพลิกศพ คือ (เทศาภิบาล)

= การพิสูจน์เพื่อให้ทราบว่าสาเหตุการตายคืออะไร


12. การตายโดยผิดธรรมชาติเพราะถูกผู้อื่นทำให้ตายที่ต้องมีพนักงานฝ่ายปกครองและอัยการเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพเพิ่มจากตำรวจและแพทย์ คือ (เทศาภิบาล)

= (1) กรณีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

(2) กรณีตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่


13. การตายโดยผิดธรรมชาติ คือ (เทศาภิบาล)

= ฆ่าตัวตาย, ถูกสัตว์ทำร้ายให้ตาย, ถูกผู้อื่นทำให้ตาย, ตายโดยอุบัติเหตุ, ตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ


14. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจและหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพกรณีมีการตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ คือ (เทศาภิบาล)

= แพทย์ / พนักงานสอบสวน / พนักงานอัยการ / พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่


15. ก่อนการชันสูตรพลิกศพผู้มีหน้าที่แจ้งเจ้าหน้าที่อื่นให้ไปชันสูตรพลิกศพ คือ (เทศาภิบาล)

= พนักงานสอบสวน (ตำรวจ)


16. ก่อนการชันสูตรพลิกศพพนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้สามี, ภรรยา, ผู้บุพการี, ผู้สืบสันดาน, ผู้แทนโดยชอบธรรม, ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างใด (เทศาภิบาล)

= ต้องแจ้งคนหนึ่งทราบเท่าที่จะทำได้


17. การตายโดยผิดธรรมชาติโดยปกติผู้มีอำนาจหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ ได้แก่ (เทศาภิบาล)

= พนักงานสอบสวนและแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์


18. การตายโดยผิดธรรมชาติที่มีการตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือในระหว่างควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ผู้มีอำนาจชันสูตรพลิกศพกรณีแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ไม่มีต้องดำเนินการอย่างไร (เทศาภิบาล)

= (1) กรณีแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ

(2) กรณีแพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้แพทย์ประจำสาธารณสุขจังหวัด

(3) กรณีแพทย์ประจำสาธารณสุขจังหวัดไม่มี หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้แพทย์ประจำ

โรงพยาบาลเอกชน


19. หลังชันสูตรพลิกศพแล้วพนักงานอัยการต้องเป็นผู้ทำคำร้องยื่นต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่โดยทำการไต่สวนกำหนดให้ยื่นภายใน…วัน นับแต่วันรับสำนวนและหากมีความจำเป็นขอขยายได้…ครั้ง ครั้งละไม่เกิน…วัน จงเติมข้อความให้ถูกต้อง (เทศาภิบาล)

= 30 / 2 / 30


20. ข้อบังคับ มท.ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรพลิกศพของพนักงานฝ่ายปกครอง พ.ศ. 2543 กำหนดให้ตำแหน่งใดบ้างในต่างจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจชันสูตรพลิกศพ (เทศาภิบาล)

= ปลัดอำเภอ, นายอำเภอ, ป้องกันจังหวัด, จ่าจังหวัด, ปลัดจังหวัด, รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่


21. ตามข้อ 20 หากเป็นการชันสูตรพลิกศพในกรุงเทพฯ ข้อบังคับ มท.กำหนดให้ตำแหน่งสังกัดกรมการปกครองและสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยตำแหน่งใดบ้างเป็นผู้มีอำนาจชันสูตรพลิกศพ (เทศาภิบาล)

= (1) เจ้าพนักงานปกครอง, นิติกร, หัวหน้างาน, หัวหน้ากลุ่ม, หัวหน้าฝ่าย, ผู้อำนวยการส่วน, ผู้อำนวยการกอง, ผู้อำนวยการสำนัก, ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง, รอง อปค., อปค., ผช.ปมท., ผต.มท., รอง ปมท. และ ปมท.

(2) โดยการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีคำสั่งแต่งตั้งและมอบหมายท้องที่ที่รับผิดชอบเป็นรายเขต


22. กรณีตายในระหว่างความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่คำว่าเจ้าพนักงานหมายถึงผู้ใดบ้าง (เทศาภิบาล)

= (1) เจ้าพนักงานผู้ควบคุมตัวผู้ต้องหา, จำเลย, นักโทษ

(2) ตำรวจ, พนักงานฝ่ายปกครอง

(3) ผู้คุมเรือนจำ, ผู้ควบคุมจำเลยในศาล

(4) เจ้าพนักงานศุลกากร, สรรพสามิต, เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ในการจับกุมและปราบปรามการกระทำผิดอาญา


23. มาตรการรองรับในกรณีมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นและพนักงานฝ่ายปกครองผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพไม่สามารถทำการชันสูตรพลิกศพให้เสร็จโดยเร็วได้ข้อบังคับกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดกระทรวงมหาดไทยระดมพนักงานฝ่ายปกครองผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพจากที่อื่นเข้าไปช่วยเหลือได้แต่การลงชื่อในรายงานการชันสูตรพลิกศพต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใด (เทศาภิบาล)

= พนักงานฝ่ายปกครองแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่


24. พนักงานฝ่ายปกครองผู้มีหน้าที่ร่วมชันสูตรพลิกศพต้องได้รับแจ้งเหตุการตายจากผู้ใดเท่านั้น (เทศาภิบาล)

= พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่


25. เมื่อได้รับแจ้งการตายจากพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่พนักงานฝ่ายปกครองผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพมีหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไรเป็นเรื่องหลัก ๆ (เทศาภิบาล)

= (1) บันทึกรายการที่ได้รับแจ้งในแบบรายงานประจำวันรับแจ้งแบบ ช.ศ.1

(2) รายงานเบื้องต้นให้ผู้บังคับบัญชาจนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบตามแบบ ช.ศ.2

(3) บันทึกการออกไปชันสูตรพลิกศพแบบ ช.ศ.3


26. แบบใดที่เป็นแบบการทำแผนที่ที่เกิดเหตุ (เทศาภิบาล)

= แบบ ช.ศ.5


27. ข้อห้ามที่ไม่ให้เจ้าพนักงานผู้ทำให้ตายหรือควบคุมผู้ตายดำเนินการในการชันสูตรพลิกศพ (เทศาภิบาล)

= (1) ชันสูตรพลิกศพคดีนั้นเอง

(2) เป็นพนักงานสอบสวนคดีนั้นเอง

(3) เป็นทั้งผู้ชันสูตรพลิกศพและเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนั้นเอง

(4) แต่การบันทึกคำชี้แจงแสดงรายละเอียดที่เกิดขึ้นมอบให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทราบไม่ใช่ข้อห้ามแต่เป็นเรื่องกำหนดให้ต้องดำเนินการ


28. ข้อบังคับ มท.กำหนดให้ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง (เทศาภิบาล)

= ค่าตอบแทน / ค่าป่วยการ / ค่าพาหนะเดินทาง / ค่าเช่าที่พักตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรม กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง


29. ข้อบังคับ มท. ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพให้อำนาจผู้ใดเป็นผู้ตีความวินิจฉัยปัญหาและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมหากเกิดปัญหาการวินิจฉัยขึ้น (เทศาภิบาล)

= ปลัดกระทรวงมหาดไทย


30. การชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนตาม ป.วิอาญาที่บัญญัติไว้ในมาตราใด (เทศาภิบาล)

= มาตรา 148-156


31. การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานกฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพด้วยนั้น หมายความรวมถึง (เทศาภิบาล)

= ทั้งการตายโดยธรรมชาติและผิดธรรมชาติ


32. ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายโดยผิดธรรมชาติ คือ ผู้ใดบ้าง (เทศาภิบาล)

= สามีภรรยา, ญาติ , มิตรสหาย, ผู้ปกครองของผู้ตาย, ผู้อื่นซึ่งได้พบศพในที่ซึ่งไม่มีสามี ภรรยา ญาติ มิตรสหาย หรือผู้ปกครองผู้ตาย


33. หากบุคคลตามข้อ 32 ผู้ใดละเลยไม่ไปแจ้งแก่พนักงานฝุายปกครอง หรือตำรวจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้มีความผิดอย่างไร (เทศาภิบาล)

= ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท


34. การทำสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญามาตรา 150 กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องฟังคำสั่งผู้ใด (เทศาภิบาล)

= พนักงานอัยการ


35. การตายที่ไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ คือ (เทศาภิบาล)

= ตายโดยถูกประหารชีวิตตามกฎหมาย


36. เจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่กรณีการตายที่เกิดจากการกระทำหรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานดังกล่าวความหมายของเจ้าพนักงาน หมายถึง (เทศาภิบาล)

= เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือมีหน้าที่ในการปราบปรามและรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น จนท.ตำรวจ, พนง.ฝ่ายปกครอง, จนท.สรรพสามิต, พัศดีเรือนจำ, จพง.ศุลกากร เป็นต้น


37. ประวัติความเป็นมาของการชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย มีอย่างไรบ้าง (ติวสอบ ชพ.64)

= (1) ร.ศ.116 หรือ พ.ศ. 2440 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 มาตรา 47 ข้อ 1 ซึ่งมีข้อความว่า "ถ้าผู้ถูกกระทำร้ายจะทำการชันสูตรบาดแผลของตน เพื่อเป็นหลักฐานในทางความก็ตามหรือพรรคพวกผู้ตายจะขอให้ชันสูตรศพเพื่อเป็นหลักฐานในเหตุความตายนั้นก็ตาม ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ ที่จะทำการชันสูตรตามวิธีที่บังคับไว้ในกฎหมายถ้าการชันสูตรนั้นจะมาทำยังที่ว่าการอำเภอไม่ได้กรมการอำเภอ ก็ต้องไปชันสูตรให้ถึงที่"

(2) พ.ศ. 2457 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติชันสูตรศพ พ.ศ. 2457

(3) พ.ศ. 2479 ได้มีประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2478 เรื่อง การชันสูตรพลิกศพ ให้อยู่ในมาตรา 148 ถึงมาตรา 156 

(4) พ.ศ. 2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 กำหนดให้พนักงานสอบสวนภายในประเทศไทยคือเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการในการรับแจ้งเรื่องเมื่อมีผู้ตาย รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการติดต่อ ติดตามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ 


38. วัตถุประสงค์ของการชั้นสูตรพลิกศพ มีอย่างไรบ้าง (ติวสอบ ชพ.64)

= (1) เพื่อทราบว่าผู้ตายเป็นใคร

(2) เพื่อทราบถึงสถานที่และเวลาที่ตาย

(3) เพื่อทราบว่ามีการตายเกิดขึ้นเมื่อใด

(4) เพื่อทราบถึงเหตุแห่งการตายที่แท้จริง

(5) เพื่อทราบถึงพฤติการณ์การตาย

(6) เพื่อให้ทราบว่าถ้าตายโดยคนทำร้ายหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิด

(7) เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำอันเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่

(8) เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดฐานใด


39. กรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันและไม่อาจลงชื่อในแบบรายงานการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวนได้ จะต้องปฏิบัติอย่างไร (ติวสอบ ชพ.64)

 = ให้บันทึกความเห็นแย้งไว้ในบันทึกผู้ชันสูตรพลิกศพตามแบบ ชศ. 7 มอบให้พนักงานสอบสวนหนึ่งชุด พร้อมบันทึกให้ทราบว่ามีความเห็นแย้งไว้ในแบบรายงานการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวนและรวบรวมรายงาน


40. ข้อควรระมัดระวังในการชันสูตรพลิกศพ มีอย่างไรบ้าง (ติวสอบ ชพ.64)

= (1) การชันสูตรพลิกศพผิดตัว (ไม่ตรงกับภาพถ่ายตามประวัติ)

(2) สภาพศพต้องบรรยายตามความเป็นจริงโดยอิสระ รวมทั้งการวินิจฉัยสาเหตุการตาย

(3) การลงชื่อในรายงานการชันสูตรพลิกศพ ตามที่ปฏิบัติหน้าที่จริง (บันทึกในสมุดเวรประจำวัน)

(4) การป้องกันการติดเชื้อโรค

(5) การระมัดระวังความปลอดภัยของตนเองในการชันสูตรพลิกศพ ในเรือนจำ

(6) การถ่ายภาพศพ สถานที่เกิดเหตุ การเก็บรักษา

(7) การขออนุมัติใช้รถยนต์ของทางราชการ

(8) การบันทึกเหตุการณ์เบื้องต้น (ชศ. 2)

(9) การเคลื่อนย้ายศพก่อนการชันสูตรพลิกศพ

(10) การนัดหมายเวลาชันสูตรพลิกศพต้องตรงเวลา

(11) การแต่งตั้งเวรชันสูตรพลิกศพสำรอง

(12) กรณีแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรมิใช่แพทย์นิติเวชศาสตร์ต้องแจ้งเหตุผลความจำเป็น 


———————————————-


#สรุป


7 ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายปกครองและผู้เตรียมตัวสอบต้องรู้ ในการชันสูตรพลิกศพ ได้แก่


1. หลักกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ

2. ตายแบบไหนต้องชันสูตรพลิกศพ

3. ใครบ้างมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับชันสูตรพลิกศพกรณีมีการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน

4. การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองที่ได้รับแต่งตั้ง

5. ค่าตอบแทนในการชันสูตรพลิกศพ

6. แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

7. ประวัติการออกข้อสอบ / ถามตอบเทศาภิบาล / ประเด็นติวสอบชำนาญการพิเศษกรมการปกครอง 2564


#ความคิดสุดท้าย


"การชันสูตรพลิกศพ"  เป็นวิธีในการพิสูจน์หาสาเหตุการตายที่เน้นอิงหลักความคิดทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด เป็นส่วนคลี่ปมการตายโดยผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะนอกเหนือไปจากการสอบสวนคดีอาญาโดยทั่วไป อันถือเป็นส่วนสำคัญในการแสวงหาพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาล 


การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสาม กำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครอง เป็นผู้ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพกับพนักงานอัยการพนักงานสอบสวนและแพทย์ ถือเป็นอำนาจหน้าที่สำคัญของฝ่ายปกครองในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน จึงต้องยึดหลักแห่งความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อก่อเกิดความยุติธรรมสูงสุดแก่ประชาชนโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม


————————————————-


กดติดตามเพจวิถีแห่งสิงห์ 

เพื่อไม่พลาดข้อมูลเด็ด ๆ 

ในการทำงานและเตรียมสอบ

สายงาน “นักปกครอง”


#วิถีแห่งสิงห์ #สอบปลัดอำเภอ #สอบนายอำเภอ #กรมการปกครอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?