จะทำอย่างไร ถ้ากำนันไม่เห็นชอบกับบุคคลที่ผู้ใหญ่บ้านเสนอชื่อให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

 


#ปกครองท้องที่


จะทำอย่างไร ถ้ากำนันไม่เห็นชอบกับบุคคลที่ผู้ใหญ่บ้านเสนอชื่อให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน


ประเด็นปัญหานี้น่าสนใจ ! 


เนื่องจากศาลปกครองพิจารณาว่าเป็นช่องว่างของกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ ที่ต้องอาศัยการตีความ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก


———————————————


ข้อมูลเพิ่มเติม :


1- คำพิพากษาศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขดำที่ 188/2548 ,คดีหมายเลขแดงที่ 67/2551

https://bit.ly/SWDP_A1


2- คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 49/2553

http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2553/c2_0049_2553.pdf


3- คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ครั้งที่ 45/2552

http://law.moi.go.th/2552/12552091445y.doc


———————————————


#เรื่องเป็นยังไงไหนเล่ามาซิ


คดีนี้เกิดขึ้นที่อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา  เมื่อผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง ขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยได้คัดเลือกราษฎรที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในหมู่บ้านนั้น จำนวน 2 คน และเสนอชื่อเพื่อให้กำนันเห็นชอบ


แต่ปรากฏว่า กำนันได้คัดค้านรายชื่อราษฎรที่ผู้ใหญ่บ้านเสนอ โดยอ้างว่าราษฎรดังกล่าว มีความประพฤติไม่เหมาะสม ไม่มีประสบการณ์  และไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับราชการ เนื่องจากมีงานประจำอยู่แล้ว และแจ้งเรื่องให้ผู้ใหญ่บ้านคัดเลือกราษฎรมาใหม่


ผู้ใหญ่บ้านจึงนำเรื่องกลับมาปรึกษาหารือกับราษฎรในหมู่บ้านด้วยการทำประชาคม เพื่อขอมติในหมู่บ้าน ปรากฏว่าราษฎรไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของผู้ที่เป็นกำนัน และไม่ประสงค์ให้มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจนกว่าจะครบวาระการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านครั้งต่อไป


ต่อมานายอำเภอเมืองยะลา จึงได้แต่งตั้งให้ปลัดอำเภอตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยเรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านทั้งสองฝ่ายมาตกลงกัน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้


ผู้ใหญ่บ้านจึงมีหนังสือขอให้อำเภอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 คนอีกครั้งหนึ่ง โดยกำนันไม่ได้ร่วมคัดเลือกหรือให้ความเห็นชอบด้วยแต่อย่างใด


เมื่อพิจารณาแล้ว นายอำเภอเมืองยะลาจึงได้ออกหนังสือสำคัญแสดงหลักฐานการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ตามระเบียบกฎหมาย


คดีนี้มีความน่าสนใจอันอาจยกเป็นบทเรียนตัวอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครองได้ว่า…


การที่นายอำเภอเมืองยะลา ออกหนังสือสำคัญแสดงหลักฐานการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองจากการเสนอชื่อของผู้ใหญ่บ้านเพียงฝ่ายเดียว โดยกำนันไม่ให้ความเห็นชอบด้วย จะกระทำได้หรือไม่


#คำพิพากษาและแนวพิจารณาของศาลปกครอง


เรื่องนี้ศาลปกครองสงขลา ได้มีคำพิพากษาโดยมีหลักในการพิจารณาที่น่าสนใจ ดังนี้


1. มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา 16 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน


2. มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ กำหนดให้เมื่อผู้ใดได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแล้ว ให้กำนันรายงานไปยังนายอำเภอเพื่อออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐาน และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่วันที่นายอำเภอออกหนังสือสำคัญ


3. ในกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ไม่อาจร่วมกันพิจารณาคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ไม่ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ และถือเป็นช่องว่างของกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ ที่ต้องอาศัยการตีความ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก


4. โดยศาลปกครองเห็นว่า กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านอาจมอบหน้าที่ให้แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รักษาการแทนได้ และยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไว้อย่างชัดแจ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นต้องมีทุกหมู่บ้าน


5. สำหรับวิธีการปฏิบัติในการคัดเลือกราษฎรในหมู่บ้านเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้นมีหลายแนวทาง เช่น ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันท้องที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสนอชื่อและให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นชอบ หรือทั้งสองฝ่ายอาจร่วมกันเสนอชื่อก็ได้  แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องเห็นชอบ


6. แต่ไม่ได้หมายความว่าหากในท้ายที่สุดแล้วผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันไม่เห็นชอบร่วมกันแล้ว จะไม่สามารถแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้เลย อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ประสงค์ให้มีตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านละ 2 คน


7. ในกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ไม่อาจมีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ ศาลปกครองเห็นว่า ความเห็นของผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าความเห็นของกำนันท้องที่ซึ่งเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ปกครองเขตพื้นที่ที่ใหญ่กว่า และเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น


8. เมื่อเกิดเหตุกรณีขัดข้องในการคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ย่อมเป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่ต้องแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าว โดยใช้อำนาจหน้าที่หรือปฎิบัติหน้าที่แทนกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่ง ได้ตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ


9. คดีดังกล่าวกรมการอำเภอ จึงได้ดำเนินการเพื่อให้ได้การได้มาซึ่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสุจริตและยุติธรรม โดยการให้ผู้ใหญ่บ้านทบทวนความเห็นและประชาคมหมู่บ้าน เพื่อขอความเห็นจากราษฎร แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้


10. จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นเหตุอันจำเป็นและสมควร ที่นายอำเภอจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการปฎิบัติหน้าที่แทนกำนันตามมาตรา 83 ประกอบกับมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ


11. แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดขั้นตอนการคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยให้กำนันเป็นผู้รายงานไปยังนายอำเภอเพื่อออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐาน แต่ก็เป็นเพียงกระบวนการภายในระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกัน และไม่ถือเป็นขั้นตอนที่มีสาระสำคัญในการคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่เป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติภายหลังจากการที่ได้คัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสร็จแล้วเท่านั้น


12. ดังนั้น การออกหนังสือสำคัญแสดงหลักฐานการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองของนายอำเภอเมืองยะลา ศาลปกครองสงขลาจึงวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว


#ประเด็นผู้ใหญ่บ้านถูกสั่งพักหน้าที่


อ้าว !!! แล้วแบบนี้ถ้าเกิดกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านถูกสั่งพักหน้าที่ล่ะ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ถูกสั่งพักหน้าที่จะสามารถร่วมปรึกษาหารือและพิจารณาคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้หรือไม่ 


ประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้เคยวินิจฉัยในแนวทางเดียวกัน ที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ว่า


เมื่อผู้ใหญ่บ้านถูกนายอำเภอสั่งพักหน้าที่ จึงมีผลทำให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่งชั่วคราวและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในระหว่างการสอบสวนพิจารณาทางวินัยหรือระหว่างถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาได้ แต่ผู้ใหญ่บ้านที่ถูกสั่งพักหน้าที่นี้ยังไม่ขาดจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด 


ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกราษฎรซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา 16 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 


จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องร่วมหารือกับกำนันด้วย 


แต่เมื่อผู้ใหญ่บ้านถูกนายอำเภอสั่งพักหน้าที่ ซึ่งมีผลทำให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้านผู้นั้นจึงไม่สามารถเข้าร่วมหารือกับกำนัน เพื่อเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้


#สรุป 


สรุปว่าคดีนี้ กำนันและผู้ใหญ่บ้านไม่สามารถเห็นชอบเลือกราษฎรมาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ ซึ่งอาจเกิดจากความเห็นไม่ตรงกันหรือเป็นกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกนายอำเภอสั่งพักหน้าที่ 


กรมการอำเภอในฐานะที่เป็นผู้ต้องตรวจตราและจัดการปกครองในตำบลและหมู่บ้านตามที่กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่กำหนด ย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย 


กรมการอำเภอจึงต้องเข้าแก้ไขข้อขัดข้องในการคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย  


เพื่อให้กิจการในหมู่บ้านดำเนินไปอย่างสัมฤทธิ์ผล ประชาชนได้รับประโยชน์ และลดความขัดแย้งในพื้นที่ให้มากที่สุด ต่อไป


———————————————-


กดติดตามเพจวิถีแห่งสิงห์ 

เพื่อไม่พลาดข้อมูลเด็ด ๆ 

ในการทำงานและเตรียมสอบ

สายงาน “นักปกครอง”


#วิถีแห่งสิงห์ #สอบปลัดอำเภอ #สอบนายอำเภอ #กรมการปกครอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?