"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?

 

“ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?

.
.
แล้วการศึกษาภาคบังคับที่ว่า เขาดูกันยังไง…
วิถีแห่งสิงห์ขอยกเอาแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่วางไว้มาเล่าให้ฟัง
.
.
.
1. กฎหมายที่กำหนดการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย มีดังนี้
.
1.1 พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช 2478 (บังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2478)
- มาตรา 6 บัญญัติว่า “เด็กทุกคนที่มีอายุย่างเข้าปีที่แปดต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้า เว้นแต่มีความรู้สอบไล่ได้ประโยคประถมศึกษา ตามหลักสูตร์ประถมศึกษาของกระทรวงธรรมการ หรือหลักสูตร์อื่นที่รัฐมนตรีเห็นว่าเทียบเท่ากัน…”
(สรุป : คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2464 - 2490 ต้องจบ ป.4 เท่านั้น | จบภายในมีนาคม 2505)
.
1.2 พระราชบัญญัติประถมศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2505 (บังคับใช้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2505)
- มาตรา 6 บัญญัติว่า “เด็กทุกคนที่มีอายุย่างเข้าปีที่แปด ต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้า เว้นแต่เป็นผู้มีความรู้สอบไล่ได้ประโยคประถมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหลักสูตรอื่นที่รัฐมนตรีเห็นว่าเทียบเท่า
เมื่อมีความเหมาะสมเฉพาะท้องที่ตำบลใด เกณฑ์ความรู้สอบไล่ได้ประโยคประถมศึกษาตอนต้นตามความในวรรคก่อน อาจเขยิบขึ้นเป็นความรู้สอบไล่ได้ประโยคประถมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
(สรุป : คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2491 - 2508 ต้องจบ ป.4 หรือ ป.7 (เฉพาะบางโรงเรียนในพื้นที่ตำบล ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา) | จบภายในมีนาคม 2523)
.
1.3 พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2523 (บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2523)
- มาตรา 3 (3) บัญญัติว่า “ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประถมศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2505
- มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้ผู้ปกครองของเด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่แปด ส่งเด็กนั้นเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้า เว้นแต่เป็นผู้สอบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่หก”
(สรุป : คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2509 - 2526 ต้องจบ ป.6 | จบภายในมีนาคม 2542)
.
1.4 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2542)
- มาตรา 17 บัญญัติว่า “ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
.
1.5 พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 (บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2546)
- มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2523”
- มาตรา 4 บัญญัติว่า “ในพระราชบัญญัตินี้ "การศึกษาภาคบังคับ" หมายความว่า การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ”
.
(สรุป ข้อ 1.4 - 1.5 : คนที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 - ปัจจุบัน ต้องจบ ม.3 เท่านั้น)
.
.
.
2. กฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ มีเจตนารมณ์ในการวางแผนการศึกษาของชาติ โดยในส่วนของการศึกษาภาคบังคับ ได้มุ่งไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐานในลักษณะของขั้นต่ำสุดหรืออย่างน้อยที่สุดที่ต้องจบ
.
3. มีพัฒนาการเริ่มตั้งแต่ปี 2478 เริ่มต้นจากชั้นประถมศึกษาตอนต้น (ป.4 / ป.7 บางพื้นที่ ) และเปลี่ยนเป็นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) และเปลี่ยนเป็นชั้นปีที่ 9 (ม.3) ตามลำดับ
.
4. การศึกษาภาคบังคับถูกกำหนดโดยอายุและระยะเวลาที่ต้องศึกษาในสถานศึกษา ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดอายุของเด็กที่จะต้องเข้าโรงเรียน และอายุอย่างน้อยที่จะออกจากโรงเรียน
.
5. การศึกษาภาคบังคับของบุคคลแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับช่วงวัยและอายุของบุคคลนั้นว่าต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับใด
.
6. เมื่อผ่านพ้นช่วงวัยอายุตามกฎหมายฉบับนั้นแล้ว แม้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดการศึกษาภาคบังคับให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก (เขยิบวุฒิ) ในภายหลัง ถ้าไม่อยู่ในช่วงวัยที่กำหนด บุคคลนั้นก็ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการศึกษาภาคบังดับที่แก้ไขใหม่นั้นอีก
.
7. กฎหมายที่แก้ไขใหม่ย่อมมีผลเฉพาะแก่บุคคลที่ยังอยู่ในช่วงวัยอายุที่ต้องถูกบังคับตามกฎหมายใหม่เท่านั้น
.
8. สรุปจากคำพิพากษาฯ
- ผู้ถูกฟ้องคดีเกิด 9 พฤศจิกายน 2511 และเข้าเรียน ป.1 ปี 2519 จึงอยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยการประถมศึกษา ปี 2505 (จบ ป.4 หรือ ป.7 บางโรงเรียนในตำบล)
- ระหว่างนั้นมีประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยประถมศึกษา พ.ศ. 2523 (เขยิบวุฒิ) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังไม่พ้นช่วงวัย จึงต้องเขยิบการจบการศึกษาภาคบังคับเป็น ป.6 ไม่ใช่ ป.4
- ปี 2551 ผู้ถูกฟ้องคดีได้ศึกษาต่อในระบบ กศน. ในภายหลังจนจบ ป.6 จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับแล้ว
- แม้ต่อมาจะมีประกาศกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 หรือกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ ปี 2545 จะกำหนดให้ต้องจบ ม.3 ก็ตามแต่ กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ ย่อมมีผลเฉพาะแก่บุคคลที่ยังอยู่ในช่วงวัยอายุที่ต้องถูกบังคับตามกฎหมายใหม่เท่านั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่อยู่ในช่วงวัยที่กำหนด จึงไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอีก
.
.
.
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
คดีหมายเลขดำที่ อ. 492/2556
คดีหมายเลขแดงที่ อ. 2188/2559
.
.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์