เด็กถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจะขอจดทะเบียนรับบุตรได้หรือไม่ ?

 


#ครอบครัว


เด็กถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจะขอจดทะเบียนรับบุตรได้หรือไม่ ?


เจาะแก่นกฎหมายจดทะเบียนรับบุตร พร้อมหลักฎีกา


คงทราบกันแล้วว่า การทำให้เด็กนอกสมรสเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นมี 3 วิธี คือ การสมรส จดทะเบียน และศาลสั่ง โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด 


อ่านเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/186297211410591/posts/6033936843313236/


คราวนี้เราจะมาเจาะลึกหนึ่งในวิธีที่ทำให้เด็กนอกสมรสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาขึ้นมาได้ นั่นก็คือ การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 


ซึ่งเป็นวิธีที่ที่มีรายละเอียด และการตีความมากกว่าตัวบทที่เราเห็น เพื่อตอบ 3 คำถามที่ว่า…


1. การจดทะเบียนรับบุตร พ่อแม่ลูกต้องไปพร้อมกันหรือไม่ ถ้าไม่สะดวกจะต้องทำอย่างไร ?


2. กรณีเด็กไร้เดียงสาจนไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมารดาเด็ก สามารถให้ความยินยอมแทนเด็กได้หรือไม่ ?


3. เด็กถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจะขอจดทะเบียนรับบุตรได้หรือไม่ ?


#ทำความเข้าใจหลักกฎหมาย


ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้สิทธิแก่บิดาที่มิได้สมรสกับมารดากระทำได้ ไม่ว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ก็ตาม เพื่อทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตน


หลักสำคัญของกฎหมายการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร คือ ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็กก่อน


ย้ำอีกครั้ง…ต้องได้รับ “ความยินยอม” จากเด็ก ”และ” มารดาเด็ก


เดิมเรื่องนี้ กฎหมายกำหนดเพียงแต่ให้เด็กและมารดาเด็กมีสิทธิที่จะคัดค้านหรือไม่คัดค้านเท่านั้น ถ้าไม่คัดค้าน บิดาก็สามารถจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้


แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ให้เข้มงวดขึ้น โดยวางหลักให้บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ต่อเมื่อได้รับ “ความยินยอม” จากทั้งเด็กและมารดาเด็กก่อน


กฎหมายยังกำหนดอีกว่า หากเด็กและมารดาเด็ก “ไม่คัดค้าน” ว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา กฎหมายให้สันนิษฐานว่า…เด็กหรือมารดาเด็กนั้น “ไม่ให้ความยินยอม”


แล้ว “คัดค้าน” กับ “ไม่ยินยอม” มันต่างกันยังไงเนี่ย 


สรุปคือ กฎหมายเก่าบอกว่าการไม่คัดค้านคือยินยอม แต่กฎหมายใหม่บอกว่าการไม่คัดค้านคือไม่ยินยอม ไงล่ะ


แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้การคุ้มครองประโยชน์และความผาสุกของบุตรเป็นสำคัญ


#ตอบคำถาม


งั้นเรามาลองอธิบายคำตอบของทั้ง 3 คำถามนี้ดู


1. การจดทะเบียนรับบุตร พ่อแม่ลูกต้องไปพร้อมกันหรือไม่ ถ้าไม่สะดวกจะต้องทำอย่างไร ? 


= ต้องไปจดทะเบียนพร้อมกันต่อหน้านายทะเบียน ถ้าเด็กหรือแม่เด็กไม่สะดวกให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนสอบถามไปยังฝ่ายที่ไม่มาต่อไป


อธิบาย : 


การจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น ทั้งพ่อ แม่ และลูก จะต้องไปให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนพร้อมกัน 


หากเด็กหรือแม่เด็กไม่มาให้ความยินยอม ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนรับรองบุตรไปยังฝ่ายนั้น 


หากฝ่ายนั้นไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่การแจ้งนั้น ให้สันนิษฐานว่าไม่ให้ความยินยอม ถ้าฝ่ายนั้นอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็น 180 วัน 


ดังนั้น ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดเพื่อนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548


2. กรณีเด็กไร้เดียงสาจนไม่สามารถให้ความยินยอมได้ ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมารดาเด็ก สามารถให้ความยินยอมแทนเด็กได้หรือไม่ ? 


= เด็กต้องเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว ผู้ใช้อำนาจปกครอง ฯลฯ ให้ความยินยอมแทนเด็กไม่ได้


อธิบาย :


การที่กฎหมายได้กำหนดให้กรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กไม่อาจให้ความยินยอมไว้ว่า การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรจะกระทำได้ต้องมีคำพิพากษาของศาลและให้บิดานำคำพิพากษานั้นไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนนั้น เป็นข้อสนับสนุนที่ชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว ผู้ใช้อำนาจปกครองให้ความยินยอมแทนเด็กไม่ได้ (ฎ. 1177/2540)


อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขอรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอม ก็ต่อเมื่อเด็กและมารดาเด็กอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้เท่านั้น 


แต่หากเด็กอยู่ในวัยไร้เดียงสาและไม่สามารถให้ความยินยอมได้ จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การที่จะให้บิดาไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสือเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงเด็กและมารดาเด็ก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคสอง และ พ.ร.บ. จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ 


บิดาจึงมีอำนาจฟ้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้เลย (ฎ. 635/2550 , 5982/2551 และ 13745/2553)


3. เด็กถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจะขอจดทะเบียนรับบุตรได้หรือไม่ ?


= ไม่ได้


อธิบาย : 


กรณีดังกล่าวได้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2545 วางบรรทัดฐานกรณีเด็กถึงแก่ความตายไปก่อนที่บิดาจะขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไว้  โดยให้ถือว่าเป็นกรณีที่เด็กและหรือมารดาเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคสาม บิดาจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิพากษาให้จดทะเบียนได้ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีทางศาลโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทได้


แต่ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 5661 / 2559 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/ 2559) กลับหลักใหม่


โดยให้เหตุผลว่า…การร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนั้น ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิโดยชัดแจ้งว่า ให้บิดาของเด็กนำคดีไปสู่ศาล ขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรในกรณีที่เด็กถึงแก่ความตายแล้วได้ 


ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมารดาถึงแก่ความตาย ที่ย่อมเป็นข้อแสดงว่าความมีอยู่ซึ่งสภาพบุคคลของมารดาหรือไม่ มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ 


ฉะนั้น ความในมาตรา 1548 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็ก...ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล" 


คำว่า "ไม่อาจให้ความยินยอม" ย่อมหมายถึงกรณีที่เด็กไม่อยู่ในภาวะที่จะให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังไร้เดียงสา หรือเป็นคนวิกลจริต เป็นต้น หาใช่เป็นกรณีที่เด็กสิ้นสภาพบุคคลแล้วไม่ 


เพราะการพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรโดยอาศัยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ย่อมกระทำได้ยาก 


จากเหตุผลดังกล่าว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ จึงเห็นว่า บิดาไม่อาจใช้สิทธิทางศาลในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ในกรณีเด็กถึงแก่ความตายแล้วได้


#สรุป


เมื่อพิจารณาประเด็นตามข้อกฎหมายในการจดทะเบียนรับบุตร ประกอบกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วางบรรทัดฐานในการพิจารณาไว้ จึงสรุปได้ว่า


1. การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร ต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาเด็กก่อน


2. หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดเพื่อนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน 


3. เด็กต้องเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว ผู้ใช้อำนาจปกครอง ฯลฯ ให้ความยินยอมแทนเด็กไม่ได้


4. หากเด็กอยู่ในวัยไร้เดียงสาและไม่สามารถให้ความยินยอมได้ บิดามีอำนาจฟ้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้เลย


5. บิดาไม่อาจใช้สิทธิทางศาล ในอันที่จะนำเสนอคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ในกรณีเด็กถึงแก่ความตายแล้วได้


———————————————-


กดติดตามเพจวิถีแห่งสิงห์ 

เพื่อไม่พลาดข้อมูลเด็ด ๆ 

ในการทำงานและเตรียมสอบ

สายงาน “นักปกครอง”


#วิถีแห่งสิงห์ #สอบปลัดอำเภอ #สอบนายอำเภอ #กรมการปกครอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?