ถ้ากรอกว่า “ตายไม่ทราบสาเหตุ” เจ้าหน้าที่อำเภอจะตีกลับ ให้หมอลงสาเหตุการตายอะไรก็ได้ไปก่อน…

 


#ทะเบียนราษฎร #เจ็บจี๊ด

.

การลงชันสูตรเป็นปัญหาทางเทคนิค เพราะเวลาลงเอกสารเบื้องต้นถ้ากรอกว่า “ตายไม่ทราบสาเหตุ” เจ้าหน้าที่อำเภอจะตีกลับ ให้หมอลงสาเหตุการตายอะไรก็ได้ไปก่อน…

.

อีกประเด็นร้อนที่น่าศึกษา 

และน่าเจ็บใจ ?

ควันหลงจากคดี #ผู้กำกับโจ้ 

กับคลิปดังที่กำลังเป็นข่าวใหญ่

.

ล่าสุดมีภาพที่ถูกเผยแพร่อยู่บนโซเชียลมีเดีย เป็นหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1 ตอนที่ 1) จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ระบุชื่อผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เสียชีวิตในคดีดังกล่าว พร้อมสาเหตุการตาย “สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน”

.

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหมอนิติเวชท่านนี้ มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดของตำรวจกลุ่มนี้หรือไม่

.

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา หมอท่านนี้ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ มีคำพูดที่น่าสนใจช่วงหนึ่งสรุปได้ว่า…การลงชันสูตรเป็นปัญหาทางเทคนิค เพราะเวลาลงเอกสารเบื้องต้นถ้ากรอกว่า ”ตายไม่ทราบสาเหตุ” เจ้าหน้าที่อำเภอจะตีกลับ ให้หมอลงสาเหตุการตายอะไรก็ได้ไปก่อน ไม่งั้นจะมีผลในการลงบันทึกข้อมูล อันนี้ถือเป็นปัญหาหน้างานที่พบจริงในบางพื้นที่เคสนี้คุณหมอเลยไม่ได้ลงว่าตายไม่ทราบสาเหตุ

.

จากนั้นโลกโซเชียลก็เดือด โหมกระหน่ำโจมตีการปฎิบัติหน้าที่ของอำเภอทันที

.

บางคนถึงกับไปตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองว่า การแจ้งตายที่บ้านในกรณีที่ไม่ปรากฏเหตุ หรือไม่ทราบว่าตายด้วยสาเหตุอะไร เหตุใดจึงออกใบมรณบัตรให้ได้ตามหนังสือสั่งการ โดยแค่สอบถามสาเหตุการตายจากญาติผู้ตายเท่านั้น..เพราะญาติไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้ด้านนี้

.

นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยได้อธิบายว่า “หนังสือรับรองการตาย” มีไว้เพื่อเก็บสถิติการตาย ไม่เกี่ยวกับใบชันสูตรพลิกศพที่หมอออกมาเพื่อให้ตำรวจใช้ทำคดี เป็นเพียงการซักประวัติร่วมกับการตรวจสอบสภาพศพเบื้องต้นเท่านั้น

.

หัวหน้าแผนกนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวเสริมอีกว่า “หนังสือรับรองการตาย” อาจแตกต่างไปจากรายงานการชันสูตรพลิกศพในภายหลังได้ เพราะการตรวจชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์และผลตรวจจากห้องปฏิบัติพิษวิทยา จะทำให้สรุปสาเหตุการตายได้แม่นยำมากขึ้น

.

จึงเกิดคำถามทันทีว่า…

.

1. แล้วแบบนี้หมอจะลงสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตายเป็น “ไม่ทราบสาเหตุการตาย” ได้หรือไม่ หรือต้องลงสาเหตุการตายให้ชัดเจนไปก่อนเดี๋ยวอำเภอตีกลับ

.

2. การที่ญาตินำหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลมายื่นเพื่อแจ้งการตายกับสำนักทะเบียนอำเภอ ระบุสาเหตุการตายเพราะ “พิษจากสารแอมเฟตามีน” นายทะเบียนต้องทำอย่างไร ออกมรณบัตรให้เลยได้หรือไม่

.

——————————————


ต่อข้อสงสัยของสังคม 

เรื่องนี้เรามาวิเคราะห์ด้วยหลักกฎหมายกัน


(แตกองค์/ระบุชื่อมาตราให้ดู)

.

พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 


มาตรา 25 (ให้รอการออกมรณบัตรไว้ก่อน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือตายโดยผิดธรรมชาติ)


1. ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายด้วย

          1.1 โรคติดต่ออันตราย

          1.2 หรือตายโดยผิดธรรมชาติ 

2. ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรีบแจ้งต่อ

          2.1 เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตราย

          2.2 หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ 

3. และให้รอการออกมรณบัตรไว้ก่อน

4. จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าว

.

.

ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 


ข้อ 68 (วิธีรับแจ้งการตาย กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือตายโดยผิดธรรมชาติ)


1. เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น 

2. ได้รับแจ้งว่ามีคนตายโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่า

          2.1 ตายด้วยโรคติดต่ออันตราย

          2.2 หรือตายโดยผิดธรรมชาติ 

3. ให้ออกใบรับแจ้งการตายเป็นหลักฐานให้แก่ผู้แจ้ง 

4. และรีบแจ้งไปยังพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ 

5. จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงจะออกมรณบัตรให้

.

.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


มาตรา 148 (การตายที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ)


วรรคแรก (การตายที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ)

1. เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใด 

         1.1 ตายโดยผิดธรรมชาติ 

         1.2 หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน 

2. ให้มีการชันสูตรพลิกศพ 

3. เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย


วรรคสอง (ตายโดยผิดธรรมชาติมี 5 ลักษณะ)

การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

          อนุฯ (1) ฆ่าตัวตาย

          อนุฯ (2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

          อนุฯ (3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

          อนุฯ (4) ตายโดยอุบัติเหตุ

          อนุฯ (5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ


—————————————


#วิเคราะห์คำถาม

.

1. แล้วแบบนี้หมอจะลงสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตายเป็น “ไม่ทราบสาเหตุการตาย” ได้หรือไม่ หรือต้องลงสาเหตุการตายให้ชัดเจนไปก่อนเดี๋ยวอำเภอตีกลับ

.

กฎหมายระบุชัดเจน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายตายโดยผิดธรรมชาติ ใน 5 ลักษณะ ทั้ง ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ หรือตายโดยยังมิปรากฏเหตุ 

.

นายทะเบียนต้องรีบแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จากนั้นให้ออกใบรับแจ้งการตาย (ท.ร. 4 ตอนหน้า) เป็นหลักฐานให้แก่ผู้แจ้ง และให้รอการออกมรณบัตรไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าว

.

หมายความว่า หมอสามารถลงสาเหตุการตายว่า “ตายไม่ทราบสาเหตุ” ในหนังสือรับรองการตายได้ เพราะกฎหมายกำหนดลักษณะการตายโดยผิดธรรมชาติไว้ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ และไม่ได้ห้ามไว้ 

.

และนายทะเบียนเองก็ลงสาเหตุการตายดังกล่าวในใบรับแจ้งการตาย ตามที่หมอบอกได้ด้วยเช่นกัน 

.

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อจะออกมรณบัตรจำเป็นจะต้องระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจน ซึ่งต้องมีความเห็นจากพนักงานสอบสวนประกอบ

.

เพราะการตายโดยผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน เช่น ถูกฆ่าตาย ตกจากที่สูง อุบัติเหตุ งูกัด เป็นต้น จะต้องมีหลักฐานการชันสูตรพลิกศพ ก่อนยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อออกมรณบัตร

.

.

2. การที่ญาตินำหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลมายื่นเพื่อแจ้งการตายกับสำนักทะเบียนอำเภอ ระบุสาเหตุการตายเพราะ “พิษจากสารแอมเฟตามีน” นายทะเบียนต้องทำอย่างไร ออกมรณบัตรให้เลยได้หรือไม่

.

รู้สึกเหมือนสวนทางกับความเห็นของหมอที่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “หนังสือรับรองการตาย” เป็นแค่การวินิจฉัยขั้นต้นต้องรอผลการชันสูตรในภายหลัง

.

ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าการตายไม่ทราบสาเหตุคือหนึ่งในลักษณะของการตายผิดธรรมชาติที่นายทะเบียนสามารถรอการออกมรณบัตรได้ พร้อมกับต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อสอบสวนหาสาเหตุ

.

หากเป็นการตายในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ พนักงานสอบสวน หมอ พนักงานอัยการ และปลัดอำเภอ

.

#อ่านบทความเพิ่มเติม 

7 ประเด็นสำคัญ 

กับการชันสูตรพลิกศพในหน้าที่ฝ่ายปกครอง :  

.

แสดงว่ากรณีดังกล่าวคุณหมอท่านนี้อาจคิดไปเองว่าจะลง “ตายไม่ทราบสาเหตุไม่ได้”

.

การที่นายทะเบียนออกมรณบัตรให้ก็ด้วยเพราะพิจารณาจากหนังสือรับรองการตายของโรงพยาบาล ประกอบกับการสอบสวนญาติและผู้แจ้ง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ

.

โดยในหนังสือรับรองการตายระบุสาเหตุการตายว่าเกิดจาก “พิษจากแอมเฟตามีน” ซึ่งพิจารณาแล้วไม่เข้าหลักของการตายโดยผิดธรรมชาติ ทั้ง 5 ลักษณะตามกฎหมาย  ที่ให้นายทะเบียนต้องรอการออกมรณบัตร แต่อย่างใด

.

อีกทั้งกรณีดังกล่าว ในวันที่แจ้งการตาย ยังไม่มีข่าวคดีหรือคลิปออกมา นายทะเบียนก็ต้องดูเอกสารหน้างาน คือหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาล ประกอบคำให้การของญาติเป็นสำคัญ และไม่มีเหตุอันควรสงสัยตามที่กฎหมายกำหนด การออกมรณบัตรให้จึงเป็นไปตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

.

.

#สรุป 

.

1. หมอสามารถลงสาเหตุการตายในหนังสือรับรองการตายว่า “ตายไม่ทราบสาเหตุ” ได้

.

2. เมื่อนำมาแจ้งต่ออำเภอ นายทะเบียนต้องดำเนินการแจ้งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แล้วจึงออกใบรับแจ้งการตายให้ และรอการออกมรณบัตรไว้ก่อน เพื่อรอความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นเหตุอันควรสงสัยว่ามีการตายโดยผิดธรรมชาติ

.

.

#ความคิดเห็น

.

จากข้อเท็จจริงตามสื่อต่าง ๆ หมอเองคงไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิด 

.

แต่สังคมตั้งข้อสงสัยในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการหลังจากการชันสูตรพลิกศพแล้ว หากไม่มีคดีความเกิดขึ้น หรือไม่มีคลิปตามมา เรื่องก็คงเงียบ

.

เพราะกระบวนการต่าง ๆ ต้องเริ่มจากการมีคดีความเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนต้องแจ้งเหตุของการตาย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายในการชันสูตรพลิกศพ

.

เมื่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการไม่ดำเนินการ ถามว่าหมอพนักงานอัยการ หรือพนักงานฝ่ายปกครองที่กฎหมายกำหนดนั้น จะทราบเองได้หรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นที่สังคมยังตั้งคำถาม

.

ดังนั้น ฝ่ายปกครองจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องศึกษาระเบียบกฎหมายในหน้าที่ของตนเองให้ลึกซึ้งสามารถปฏิบัติได้อย่างสัมฤทธิ์ผล เพื่ออำนวยความสะดวกและอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนไปพร้อมกันได้อย่างแท้จริง

.

.

————————————


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :


https://news.thaipbs.or.th/content/307282


https://www.facebook.com/141108613290/posts/10160013530598291/


http://bodthai.net/การแจ้งตาย-เรื่องง่าย


https://stat.bora.dopa.go.th/callcenter1548/New1548/detail.php


————————————


กดติดตามเพจวิถีแห่งสิงห์ 

เพื่อไม่พลาดข้อมูลเด็ด ๆ 

ในการทำงานและเตรียมสอบ

สายงาน “นักปกครอง”

.

.

#วิถีแห่งสิงห์ #สอบปลัดอำเภอ #สอบนายอำเภอ #กรมการปกครอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?