ผิดกฎหมายการพนันไหม ? กรณี ส.ส. คนดัง ท้าพนันไฮโซหนุ่ม “บอดจริงให้ 1 ล้าน ถ้าไม่บอดจ่าย 10 ล้าน”

 


ผิดตาม พ.ร.บ.การพนันไหม ?


ส.ส. คนดัง ท้าพนันไฮโซหนุ่ม

“บอดจริงให้ 1 ล้าน”

“ถ้าไม่บอดจ่าย 10 ล้าน”

 .

⚠️ (#คำเตือน : ข้อมูลนี้เป็นบทวิเคราะห์ ที่วิถีแห่งสิงห์ทำขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการพนันเท่านั้น ซึ่งอาจแตกต่างไปจากการวินิจฉัยของผู้ทรงความรู้ หน่วยงาน หรือศาล) ⚠️

.

​เป็นข่าวร้อนแรงประจำวัน เรียกได้ว่ากลบข่าว “โจ้ถุงดำ” มิดเลย 

.

เมื่อ ส.ส. คนดังเบิกเงินสด 1 ล้านบาท ใส่พานรอไฮโซหนุ่ม เพื่อพิสูจน์ว่าตาบอดจริงหรือไม่ 

.

ขณะที่ไฮโซคนดังกล่าวเมื่อมาถึงก็วางเช็ค 10 ล้านบาท เช่นกัน แต่ปรากฏว่า ส.ส. กลับปฏิเสธรับเช็ค ระบุเพียงว่า ท้าวางเงินสด ไม่ใช่เพื่อนเล่น ที่นี่ไม่ใช่สนามเด็กเล่น เงินสด 10 ล้านก็ต้องนำเงินสดมา ก่อนนำเงินสด 1 ล้านบาทของตัวเองออกไป ด้านไฮโซยันเช็คของจริง ไม่เด้ง เบิกเงินได้แน่นอน และยืนยันตาบอดจริง ยินดีพิสูจน์

 .

เอาเป็นว่าประเด็นดราม่าการเมืองเราจะไม่พูดถึง เรามาสนใจประเด็นที่เกี่ยวกับฝ่ายปกครองที่ควรศึกษากันดีกว่า

.

#จึงเกิดคำถามทันทีว่า…

.

1. การกระทำดังกล่าว เป็นการพนันตาม พ.ร.บ.การพนันฯ ไหม ?

​.

2. ถ้าเป็นการเล่นพนันจริง เป็นการพนันประเภทไหน และขออนุญาตเล่นได้หรือไม่ ?

 .

——————————————

 .

#แล้วการพนันคืออะไรล่ะ

.

​ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจ คำว่า “การพนัน” ก่อนว่าคืออะไร 

.

เพราะในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ไม่ได้บัญญัติบทนิยามไว้ เปิดขึ้นมาก็บอกว่าห้ามเล่นอย่างเดียวเลย แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรเป็นการพนัน อะไรไม่เป็นการพนัน 

.

แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรายมาตราโดยละเอียดจะพบว่ามีมาตรา 4 ทวิ วรรคสอง เท่านั้นที่ได้ให้ความหมายของคำว่าการพนันโดยอ้อม ๆ เอาไว้ว่า “การเล่น” ให้หมายความรวมถึงการทายหรือการทำนายด้วย

.

นอกจากนี้แล้ว หากมองย้อนกลับไปดูพระราชบัญญัติการพนันฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2473 จะพบว่าไม่ได้มีการให้คำจำกัดความของคำว่าการพนันเอาไว้เช่นกัน

.

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 853 - 855 เอง ก็ได้บัญญัติเกี่ยวกับการพนันและขันต่อไว้ด้วย แต่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติทั้ง 3 มาตรา ก็ไม่ได้อธิบายความหมายคำว่าการพนันเอาไว้แต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวถึงหนี้อันเกิดจากการพนันเป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อชำระไปแล้วเรียกคืนไม่ได้ หรือไม่ชำระก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้

.

ซึ่งเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพนันนี้ มีขึ้นเพื่อไม่ให้มีการเรียกร้องทรัพย์สินอันเกิดจากการเล่นพนันต่อกัน เนื่องจากอาจเป็นที่มาของการกระทําความผิดอย่างอื่นได้ 

.

พอมาเปิดดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้ให้ความหมายไว้ว่า

.

“การพนัน” คือ เล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นโดยอาศัยความฉลาด ความชำนาญ เล่ห์เหลี่ยม ไหวพริบและฝีมือ รวมทั้งโชคด้วย การเล่นเช่นนั้น เรียกว่าการพนัน

.

“ขันต่อ” คือ กล้าต่อ หรือ การต่อรองซึ่งได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะ

.

ก็ยังไม่ชัดอีกใช่ไหม งั้นมาดูคำพิพากษาศาลฎีกาบ้าง

.

(คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2515)

การพนันต้องมีการได้เสียเงินทองหรือทรัพย์สิน ถ้าไม่ได้มีการเอาทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ผิด

.

(คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 453-460/2501)

การได้หรือเสียนั้นถือเอาผลของเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นเครื่องชี้ขาด หรือต้องมีการเสี่ยงโชคเกิดขึ้น หากไม่มีการแพ้ชนะด้วยวิธีการเสี่ยงโชคก็ไม่ใช่การพนัน

.

(คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2500) 

การเล่นการพนันต้องมีผู้เล่นสองฝ่ายขึ้นไปเสมอ  

.

(คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2544) 

แม้โจทก์มิได้บรรยายว่า เป็นการเล่นอื่นใดนอกจากที่กล่าวในมาตรา 4 ซึ่งมิได้ระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวง และมาตรา 4 ทวิ ไม่ใช่บทมาตราที่บัญญัติองค์ประกอบ ความผิดไว้ แต่ก็มีบทลงโทษรวมอยู่ในมาตรา 12 กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอํานาจลงโทษจําเลยตามฐานความผิดท่ีถูกต้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหา ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

.

#จึงพอสรุปได้ว่า 

.

การพนันจะต้องประกอบด้วย

.

1. มีการเล่นด้วยฝีมือหรือทํานายผลของเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ของผู้เล่นตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป และ 

.

2. ต้องมีการได้เสียเงินทองหรือทรัพย์สินให้แก่กัน

.

ดังนั้น การพนันต้องมีการได้เสียเงินทองหรือทรัพย์สินเสมอ หากมีเพียงการเล่น ด้วยฝีมือหรือทํานายผลของเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน แต่ไม่มีการได้เสียเงินทองหรือทรัพย์สินให้แก่กันก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการพนัน เป็นเพียงแต่การเล่นเท่านั้น

.

ในทางกลับกัน ถึงจะมีการได้เสียเงินทองหรือทรัพย์สินให้แก่กันก็ตาม แต่ไม่ได้ใช้ฝีมือหรือทำนายผลแห่งเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนแล้ว ก็ไม่ใช่การพนันเช่นกัน

.

——————————————

 .

#กฎหมายว่าด้วยการพนัน

.

(แตกองค์/ระบุชื่อมาตราให้ดู)

.

พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478

.

มาตรา 4 (ข้อห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไข การจัดให้มี หรือเข้าเล่น หรือเข้าพนัน)


​วรรคแรก (ห้ามจัดให้มี หรือเข้าเล่น หรือเข้าพนันการพนันในบัญชี ก.)

​     1. ห้ามมิให้อนุญาต

​​          1.1 จัดให้มี

​​          1.2 หรือเข้าเล่น

​​          1.3 หรือเข้าพนัน

     ​2. ในการเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ก. ท้ายพระราชบัญญัตินี้

​     3. หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน

​     4. หรือการเล่นอันร้ายแรงอื่นใด

​     5. ซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมห้ามไว้

​     6. แต่เมื่อรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า

​​          6.1 ณ สถานที่ใดสมควรจะอนุญาต

          ​​6.2 ภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ

​​          6.3 ให้มีการเล่นชนิดใด

​     7. ก็อนุญาตได้ โดยออกพระราชกฤษฎีกา


วรรคสอง (เงื่อนไขการเล่นการพนันอันระบุไว้ในบัญชี ข.)

     ​1. การเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัตินี้

​     2. หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน

​     3. หรือการเล่นอื่นใด

​     4. ซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้

​     5. จะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมได้ต่อเมื่อ

          ​5.1 รัฐมนตรีเจ้าหน้าที่

​​          5.2 หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

               ​​5.2.1 เห็นสมควร

​​               5.2.2 และออกใบอนุญาตให้

​​​               5.2.3 หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต


วรรคสาม (การเล่นตามวรรคสอง จะต้องมีใบอนุญาต)

     ​1. ในการเล่นอันระบุไว้ในวรรค ๒ ข้างต้นนั้น

     ​2. จะพนันกันได้เฉพาะ

​​          2.1 เมื่อได้มีใบอนุญาตให้จัดมีขึ้น

​​          2.2 หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต


ฯลฯ

.

มาตรา 4 ทวิ (เงื่อนไขการเล่นพนันอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้)


​วรรคแรก (เงื่อนไขการเล่นการพนันอื่นใดนอกจากที่ระบุในมาตรา 4)

     ​1. ในการเล่นอื่นใด

​     2. นอกจากที่กล่าวในมาตรา 4

​     3. จะพนันกันหรือจะจัดให้มีเพื่อให้พนันกัน

​     4. ได้เฉพาะการเล่นที่ระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวง

วรรคสอง (ความหมายของ “การเล่น”)

​     1. คำว่า “การเล่น” ในวรรคก่อน

​     2. ให้หมายความรวมตลอดถึง

          ​​2.1 การทาย

          ​​2.2 และการทำนายด้วย

.

มาตรา 5 (ข้อสันนิษฐานของผู้จัดให้มีการเล่นและผู้ที่เข้าเล่นการพนัน)

     1. ผู้ใดจัดให้มีการเล่น

     2. ซึ่งตามปกติย่อมพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน

          2.1 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นจัดให้มีขึ้นเพื่อนํามา ซึ่งผลประโยชน์แห่งตน

          2.2 และผู้ใดเข้าเล่นอยู่ด้วยก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้น พนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่น

.

—————————————

.

#วิเคราะห์คำถาม

 .

1. เป็นการเล่นการพนันไหม ?

.

​ข้อเท็จจริง คือ มีการกล่าวท้ากันว่าให้พิสูจน์ว่าตาคุณบอดจริงหรือไม่ ถ้าตาบอดจริง ฉันจะจ่ายเงินให้ 1 ล้านบาท ถ้าไม่จริงจ่ายมา 10 ล้านบาท

.

กรณีนี้ พอตรวจสอบและพิจารณาแล้ว เป็นการเล่นที่ไม่ได้ระบุประเภทของการพนันไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติอย่างชัดเจน จึงไม่จัดว่าอยู่ในการเล่นพนัน ทั้งบัญชี ก. หรือบัญชี ข. 

.

จึงต้องวิเคราะห์ต่อว่า แล้วข้อเท็จจริงดังกล่าว มีองค์ประกอบครบที่เข้าข่ายการพนันอย่างอื่นตามมาตรา 4 ทวิ และมาตรา 5 หรือไม่ ดังนี้ 

.

          1.1 มีการเล่นด้วยฝีมือหรือทํานายผลของเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน ของผู้เล่นตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปหรือไม่

.

วิถีแห่งสิงห์เห็นว่า กรณีนี้ คือ ผลแห่งการแพ้ชนะอยู่ที่ว่า “ตาบอดจริงหรือไม่” ซึ่งการประสบเหตุของดวงตานั้น เกิดขึ้นก่อนแล้ว อาจจะบอดหรืออาจะไม่บอดก็เป็นได้ เพียงแต่ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ก่อนทุกคนจึงจะเชื่อตามนั้น ไม่ใช่การทำนายเหตุการณ์ในอนาคต อันจะเอามาเป็นข้อแพ้ชนะกันได้ตามหลักการทาย

.

หมายความว่า ​​ไม่ใช่การทำนายเหตุการณ์หรือความเป็นไปที่จะเกิดในเบื้องหน้า เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

​.

          1.2 ต้องมีการได้เสียเงินทองหรือทรัพย์สินให้แก่กัน

.

ความจริงแล้ว เมื่อองค์ประกอบแรกคือการเล่นไม่เข้าหลักกฎหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบที่เหลืออีก

.

แต่อย่างไรก็ตามเราลองมาวิเคราะห์กันว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปที่เหตุการณ์เมื่อวาน (30 ส.ค. 64)

.

ที่ฝั่ง ส.ส. คนดังวางเงินสด 1 ล้านบาท และฝั่งไฮโซหนุ่มวางเช็ค 10 ล้านบาท เพื่อเดิมพันกัน แต่ปรากฏว่า ส.ส. กลับปฏิเสธรับเช็ค เพราะไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ก่อนนำเงินสด 1 ล้านบาทของตัวเองออกไป

.

กรณีจึงชัดเจนว่าไม่มีการได้หรือการเสียเงินทองหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่กันจริง ๆ ก็ไม่เข้าองค์ประกอบการพนันอีกเช่นกัน

.

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เป็นการพนันก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบคำถามข้อ 2  ที่จะต้องขออนุญาตหรือไม่แต่อย่างใด

.

#สรุป

.

การกระทำดังกล่าว ไม่เป็นการพนันตาม พ.ร.บ.การพนันฯ ไม่ว่าจะเป็นการพนัน บัญชี ก หรือบัญชี ข หรือการพนันอย่างอื่น ที่ต้องขออนุญาต

.

#ความคิดเห็นท้ายสุด

​.

นี่คือภาพสะท้อนปัญหาความไม่ชัดเจนของการกระทําความผิด ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ที่ได้ระบุเนื้อหาและรูปแบบของการพนันที่เป็นความผิดต่างๆไว้ เพียงแต่ชื่อของการเล่นพนันโดยเฉพาะในบัญชี ก. และบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัติเท่านั้น 

.

ซึ่งในปัจจุบันการเล่นการพนันตามบัญชีท้ายถือได้ว่าล้าสมัย การกําหนดชื่อของการพนันเอาไว้ ทําให้การพนันเหล่านั้นมีลักษณะที่ตายตัว ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร 

.

ส่งผลให้วิธีการเล่นการพนันมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเกินกว่าการบังคับใช้กฎหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ร้อยปี การพนันหรือการเดิมพัน จะยังคงอยู่คู่สังคมไทย จึงจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ 

.

เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ดำเนินตามรอยทางแห่งนิติธรรมวิถี และลบภาพจำไม่ดีตามจดหมายเหตุของ ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ เอกอัคราชทูตฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ท่ี 14 ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปี พ.ศ. 2230 ความตอนหนึ่งว่า “ชาวสยามรัก การเล่นพนันกันเหลือเกิน จนกระทั่งฉิบหายขายตนหรือไม่ก็ขายบุตรธิดาของตน (ให้ตกเป็นทาส)” ให้ได้

.

—————————————

.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

.

http://www.ago.go.th/articles_58/article_230258.pdf

.

http://www.dopatrang.go.th/datacenter/doc_download/a_230112_104229.pdf

.

http://www.gamblingstudy-th.org/pdf/doc/research/Nantawat2554.pdf

.

—————————————

.

กดติดตามเพจวิถีแห่งสิงห์ 

เพื่อไม่พลาดข้อมูลเด็ด ๆ 

ในการทำงานและเตรียมสอบ

สายงาน “นักปกครอง”

.

.

#วิถีแห่งสิงห์ #สอบปลัดอำเภอ #สอบนายอำเภอ #กรมการปกครอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?