5 เหตุผล ทำไมคนรวยต้องจดทะเบียนมูลนิธิ-สมาคม

 ใจบุญ ภาพลักษณ์ ฟอกเงิน หรือเลี่ยงภาษี…

เข้าเรื่อง…


ทำไมคนรวยต้องจดทะเบียน “ มูลนิธิ-สมาคม ”
ใจบุญ ภาพลักษณ์ ฟอกเงิน หรือเลี่ยงภาษีกันแน่ มาดูกัน

ไทยแลนด์แดนแห่งการทำบุญ เรามักเห็นตามฟีดข่าวถึงการเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะน้ำท่วม ไฟไหม้ คนยากไร้ถูกทอดทิ้ง หรือคนยากจน เป็นประจำ จนบางครั้งคนที่ถูกช่วยได้เงินเป็นล้านสุขสบายเลยก็มี

รู้ไหมครับว่าจริงๆแล้วมันผิดกฎหมาย…อ้าว!!!
แต่วันนี้เราไม่ได้มาพูดเรื่องนี้กัน

หากใครเคยยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี จะได้ยินเรื่อง “ค่าลดหย่อน” ไอ้ค่าลดหย่อนที่ว่านี้สรรพากรให้ใช้เป็นส่วนลดก่อนนำไปคำนวณภาษี ทำให้เราเสียภาษีน้อยลง มีอยู่หลายค่าแต่มีอยู่ค่านึงคือ “เงินบริจาค” ที่เมื่อเราไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งโรงเรียน หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรการกุศล (ที่ถูกกฎหมาย) แล้ว เราก็สามารถนำยอดเงินบริจาคนั้นมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมิน หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นแล้วได้

ทำไมรัฐถึงให้สิทธิประโยชน์กับนักบุญมาก บางปีนำยอดเงินบริจาคถึง 2 เท่ามาลดหย่อนได้ ก็เพราะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยแบ่งปันและช่วยเหลือกันมากขึ้นยังไงล่ะ

องค์กรการกุศลที่ว่านี้คือตัวแปรสำคัญ หากเราบริจาคผิดที่อาจนำยอดเงินบริจาคมาลดหย่อนตามกฎหมายไม่ได้ และมูลนิธิ-สมาคม คือองค์กรการกุศลที่คนรวยคนดังนิยมทำกัน

เมื่อพูดถึง “มูลนิธิ” หรือ “สมาคม” คนทั่วไปคงนึกถึงองค์กรอะไรซักอย่างที่เป็นที่รวมคนใจบุญ เพื่อช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ

รู้หรือไม่ว่า…เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในประเทศไทยมีมูลนิธิสมาคมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับกรมการปกครอง รวมกันกว่า 26,000 แห่ง แบ่งเป็นมูลนิธิจำนวน 13,572 แห่ง และสมาคมจำนวน 12,973 แห่ง

แต่จริงๆแล้ว มีองค์กร กองทุน มูลนิธิ สมาคม ที่รวมตัวกันแล้วไม่ขอจดทะเบียนมีอีกเยอะมาก

คำถามก็คือ…มูลนิธิเหล่านั้นเขาใจบุญ และทำเพื่อสังคมโดยไม่หวังอะไรตอบแทนจริงๆเหรอ ?

ผมจะพามาดูอีกมุมที่อาจไม่เคยเห็น เป็นมุมที่ผมได้มีโอกาสคลุกคลีทำงานการขอจดทะเบียนมูลนิธิสมาคมในจังหวัดหนึ่งมา เราจะพามาวิเคราะห์ 5 เหตุผล ทำไมคนรวยต้องจดทะเบียน “ มูลนิธิ-สมาคม” กัน

ผมได้รวบรวมเหตุผลสำคัญหลักๆ มาด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่…

1. ใจบุญ ต้องการเห็นสังคมดีขึ้นจริงๆ


อย่าคิดมากสิ เขาแค่ใจบุญจริงๆ ในต่างประเทศเราจะเห็นบุคคลระดับมหาเศรษฐีของโลก ก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือสังคม ทั้งด้านการศึกษา คุณภาพชีวิต หรือโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก

หนึ่งในมูลนิธิที่โด่งดังที่สุดในโลกและเป็นมูลนิธิเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก คงไม่มีใครไม่เคยได้ยิน มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ของบิลเกตส์และภรรยา ผู้ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่เบอร์ต้นของโลกอย่าง Microsoft มูลนิธิฯก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั่วโลกในด้านการศึกษา สุขภาพ และความยากจน โดยปี 2561 มีขนาดกองทุนใหญ่ถึง 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.38 ล้านล้านบาท หรือใหญ่กว่าบริษัท SCG ถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

ในประเทศไทยเอง ก็มีมูลนิธิสมาคมที่มีส่วนในการช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสเป็นจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์หรือในพระบรมราชินูปถัมภ์ โรงพยาบาล โรงเรียน หน่วยงานราชการ หรือแม้แต่ห้างร้านเอกชน ที่มุ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยเหลื่อผู้ด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง

2. ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร หรือธุรกิจ

ตราบใดที่เรายังเลือกหนังสือจากหน้าปก เราชอบคนที่แต่งตัวดี ๆ หล่อ สวย เมื่อแรกเห็น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์คือสิ่งที่จำเป็นในช่วงแรก แม้สิ่งที่ยั่งยืนกว่านั้นคือความดีก็ตาม

มีหลายองค์กรโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัวจนร่ำรวยเงินทอง หันมาทำมูลนิธิสมาคมกัน เพื่อสื่อสารภาพจำที่ดีให้กับองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นการอัพเกรดคุณค่าผ่านการช่วยเหลือสังคม ถามว่าผิดไหม…ก็คงไม่ผิด อย่างน้อยที่สุดแม้เขาจะหวังประโยชน์จากการช่วยเหลือสังคม ก็เป็นการทำให้สังคมดีขึ้นนั่นเอง

ยิ่งในยุคการสื่อสารที่รวดเร็ว เรามีสื่อสังคมออนไลน์ เรามีสมาร์ทโฟน ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งในการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคถึงแบรนด์ แต่ก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่เมื่อคุณดังได้ชั่วข้ามคืน คุณก็ดับได้ชั่วข้ามวันเช่นกัน ยิ่งแบรนด์ขององค์กรเป็นที่น่าจดจำในด้านบวก ใจบุญ ช่วยเหลือสังคม ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้เป็นจุดขายสำคัญได้เสมอ

3. จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็น “นิติบุคคล ”

เมื่อเป็นนิติบุคคลแล้วรู้สึกมีความน่าเชื่อถือ ถึงเวลาจะขอรับบริจาคจากองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้จ่ายในกิจการงานการกุศลก็ง่ายขึ้นละทีนี้

4. ได้สิทธิพิเศษทาง “ภาษี”

นี่คือเหตุผลหลักขององค์กรธุรกิจที่ทำมูลนิธิสมาคมครับ

(เดี๋ยวมาเจาะลึกเรื่องภาษีกันแบบละเอียดอีกที)

อย่าลืมว่าหากเป็นบุคคลธรรมดาจะจ่ายภาษีเงินได้แบบก้าวหน้าสูงสุดถึง 35% เลยทีเดียว แต่ถ้าหากเป็นมูลนิธิสมาคมที่จดทะเบียนถูกต้องแล้วจะเสียภาษีเงินได้น้อยกว่า ได้รับยกเว้นบางรายการ หรือได้รับยกเว้นทั้งหมด แล้วแต่กรณี ได้แก่

4.1 เสียภาษีเงินได้น้อยกว่า มูลนิธิสมาคมจะเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย (แต่บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด จะเสียภาษีจากกำไรสุทธิ) ในอัตรา 10% กรณีเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1)-(7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ 2% กรณีเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม จะต้องคำนวณตามรอบระยะเวลาบัญชีเช่นเดียวกับ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล”

4.2 ได้รับยกเว้นบางรายการ โดยมูลนิธิสมาคมที่ไม่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรายได้ดังต่อไปนี้มาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้จากสมาชิก เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการให้โดยเสน่หา และเงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนของมูลนิธิหรือสมาคม ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายของ การรับจ้างทำของ หรือการให้บริการอื่นใดที่โรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษาได้รับจากผู้ซึ่งมิใช่นักเรียน

4.3 ได้รับยกเว้นทั้งหมด มูลนิธิสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะมีรายได้จากกิจการประเภทใด

5. ถูกกฎหมาย น่าเชื่อถือ สบายใจ

มูลนิธิสมาคมที่ไม่จดทะเบียนตามกฎหมายแล้วฝ่าฝืนไปดำเนินกิจการมีโทษทั้งทางอาญา และทางแพ่งครับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 หรือหากมีการหลอกลวงประชาชน หรือไปฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ๆ ก็มีความผิดเพิ่มเติมอีก

และอาจเป็นช่องทางให้ผุ็ไม่ประสงค์ดี ใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน ก่อการร้าย หรือกระผิดกฎหมายและศีลธรรมอื่นๆได้

อยากบอกว่า…

นอกจากการจดทะเบียนมูลนิธิสมาคมจะเป็นประโยชน์ทั้งตัวมูลนิธิสมาคมเอง ดีต่อสังคมแล้ว รัฐยังกำหนดนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์บริจาคเงินกับองค์กรการกุศลที่ถูกกฎหมาย โดยจูงใจด้วยการให้นำยอดเงินบริจาคเพื่อการกุศลกับองค์กรเหล่านั้น มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีอีกด้วย ซึ่งผู้บริจาคจะได้รับสิทธิต่าง ๆ ดังนี้

บุคคลธรรมดาบริจาคเงินให้กับมูลนิธิหรือสมาคม มีสิทธินำเงินบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ในการคำนวณเงินได้สุทธิ

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับมูลนิธิหรือสมาคมมีสิทธินำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทขายสินค้า นำสินค้าไปบริจาคให้กับมูลนิธิหรือสมาคม ผู้ประกอบกิจการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลนิธิหรือสมาคม

สรุป…5 เหตุผล ทำไมคนรวยต้องจดทะเบียน “ มูลนิธิ-สมาคม ”

1. ใจบุญ ต้องการเห็นสังคมดีขึ้นจริง ๆ

2. ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร หรือธุรกิจ

3. จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็น “นิติบุคคล ”

4. ได้สิทธิพิเศษทาง “ภาษี ”

5. ถูกกฎหมาย น่าเชื่อถือ สบายใจ

ท้ายนี้ขอฝากถึงพี่น้องครับว่า ในฐานะที่ผมมีประสบการณ์ทำเรื่องมูลนิธิสมาคมมา บอกได้คำเดียวครับว่า…ทำให้ถูกกฎหมายเถอะครับ จะได้ไม่เป็นการส่งเสริมการฟอกเงิน หรือการก่อการร้าย แถมได้ทั้งภาพจำที่ดีต่อธุรกิจ สินค้า บริการ และแถมได้ประโยชน์เรื่องภาษีเต็ม ๆ ส่วนคนบริจาคก็ได้ทั้งบุญได้ทั้งค่าลดหย่อนทางภาษีอีก วินวินกันทุกฝ่าย

บทความถัดๆ ไปผมจะมาพาเจาะลึกรายละเอียด ว่าจะขออนุญาตอย่างไร ทำอย่างไร ให้กิจการการกุศลอย่างมูลนิธิสมาคม ดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย สร้างความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่น และภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กรครับ

#วิถีแห่งสิงห์



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวข้อสอบปลัดอำเภอ ๒๕๕๕ : ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ

ผู้ยึดมั่นในวิถีแห่งสิงห์

"ผู้ใหญ่บ้าน” ต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ…?